ฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านการศึกษาที่เชื่อมโยงแผนสำคัญของประเทศ
การวิจัยและพัฒนารูปแบบ กลไกการเสริมสร้างวินัยนักเรียนในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านการปฏิบัติตามระเบียบ กฎเกณฑ์ รู้จักกาลเทศะ และเคารพสิทธิผู้อื่น (2562,มหาวิทยาลัยบูรพา)

วัตถุประสงค์
1) เพื่อศึกษาองค์ความรู้เพื่อใช้เป็นฐานในการยกร่างรูปแบบ กลไกการเสริมสร้างวินัยนักเรียนในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และถอดบทเรียนความสำเร็จจากสถานศึกษาที่มีผลการปฏิบัติดี (Best practice) 2) เพื่อยกร่างรูปแบบ กลไกการเสริมสร้างวินัยนักเรียนในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 3) เพื่อตรวจสอบรูปแบบและกลไกการเสริมสร้างวินัยนักเรียนในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 4) เพื่อนำรูปแบบ กลไกการเสริมสร้างวินัยนักเรียนในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานไปทดลองใช้ในสถานศึกษา 5) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบและกลไกการเสริมสร้างวินัยนักเรียนในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 6) เพื่อจัดทำรายงานผลการพัฒนารูปแบบ กลไกการเสริมสร้างวินัยนักเรียนในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านการปฏิบัติตามระเบียบ กฎเกณฑ์ รู้จักกาลเทศะและเคารพสิทธิผู้อื่น พร้อมคู่มือรูปแบบและกลไกการเสริมสร้างวินัยนักเรียนในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานด้านการปฏิบัติตามระเบียบ กฎเกณฑ์ รู้จักกาลเทศะและเคารพสิทธิผู้อื่น
รูปแบบ/โมเดล
รูปแบบการเสริมสร้างวินัยนักเรียนในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 1) ปัจจัยนำเข้า ประกอบด้วย 1.1) สภาพแวดล้อม ซึ่งได้แก่ (1) บ้าน (2) โรงเรียน (3 )ชุมชน และ 1.2) ผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ (1) ผู้ปกครอง (2) ผู้บริหาร (3) ครู (4) เพื่อน และ (5) ผู้นำชุมชน  2) กระบวนการ ประกอบด้วย 2.1) กิจกรรมสร้างวินัยตามองค์ประกอบ ได้แก่ (1) การปฏิบัติตามระเบียบ (2) การปฏิบัติกฎของโรงเรียน (3) การรู้จักกาลเทศะ (4) การรู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น และ 2.2) กิจกรรมเสริมวินัย ได้แก่ (1) การสร้างให้เกิดความศรัทธาในตนเอง (2) การทำให้เห็นคุณค่าในตนเอง (3) การมีเหตุมีผล และ (4) เป็นคนดี  3) ผลิตผล ประกอบด้วย 3.1) วินัยนักเรียน 3.2) จำนวนนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการและผ่านเกณฑ์ 3.3) รูปแบบการพัฒนาวินัยนักเรียนของโรงเรียน  4) ผลลัพธ์ ได้แก่ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน  5) ผลกระทบ ได้แก่ 5.1) ชื่อเสียงของนักเรียน โรงเรียน ชุมชน และ 5.2) การได้รับรางวัล

ปัจจัยความสำเร็จ
1) การมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ตั้งแต่แนวคิดจากโรงเรียนต้นแบบและนักเรียน ครู ผู้บริหาร ของโรงเรียนที่เป็นผู้นำรูปแบบไปใช้ 2) รูปแบบการส่งเสริมวินัยนักเรียนที่พัฒนาขึ้นมีกิจกรรมที่นักเรียนต้องปฏิบัติในแต่ละวันชัดเจน 3) มีเอกสารคู่มือครอบคลุมทุกระดับ คือ ระดับโรงเรียน ระดับคณะกรรมการวินัย และระดับนักเรียนผู้ปฏิบัติ 4) เน้นการสร้างความยั่งยืนโดยการปรับระเบียบการปฏิบัติของโรงเรียนให้สอดคล้องกับกิจกรรมที่นักเรียนต้องปฏิบัติในชีวิตประจำวันและเรื่องใกล้ตัว 5) ผู้บริหารและครูมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมวินัย ผู้บริหารต้องลงปฏิบัติจริงจังโดยมีครูเป็นทีมงานที่ทุ่มเทและเห็นความสำคัญ จากการทดลองใช้ในการส่งเสริมวินัยการเอาจริงเอาจังเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น ผู้บริหารฝ่ายเดียว หรือครูฝ่ายเดียวจะเกิดผลสำเร็จได้ยาก ผู้อำนวยการที่เห็นด้วย ตั้งกรรมการ มอบรองอย่างเดียวการพัฒนาจะเกิดได้ยาก หรือเกิดแต่ขาดความยั่งยืน 6) การนำข้อมูลป้อนกลับ (Feed-back) ทำให้โรงเรียนมีการกระชับการปฏิบัติไปยังครูที่ปรึกษาและคณะกรรมการนักเรียน ซึ่งเป็นกรรมการวินัยนักเรียน ส่งผลให้การดำเนินการมีกิจกรรมที่นักเรียนปฏิบัติได้ทุกวันมากขึ้น
เงื่อนไขความสำเร็จ
1) การดำเนินการพัฒนาวินัยกับโรงเรียนขนาดใหญ่และไม่ดำเนินการทั้งโรงเรียนจะมีผลสัมฤทธิ์ด้านวินัยของรูปแบบต่ำ ทั้งนี้ เนื่องจากการสร้างวินัยจำเป็นต้องทำด้วยความพร้อมเพรียงกัน การดำเนินการกับคนจำนวนมากจึงทำได้ยากกว่า เนื่องจากการสร้างวินัยหรือฝึกให้คนมีวินัยจำเป็นจะต้องทำในบางอย่างที่อึดอัดแต่จะเกิดวินัยได้เมื่อปฏิบัติจนเคยชิน  2) การดำเนินการที่สำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับครูและผู้บริหาร เป็นเรื่องที่ส่งผลกับความยั่งยืนของรูปแบบ เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงตัวบุคคล คือ การโยกย้ายของผู้บริหารทำให้ไม่ต่อเนื่อง และครูที่อาจมีการเกษียณอายุ การโยกย้าย เปลี่ยนตำแหน่ง และการเปลี่ยนตามนโยบาย  3) รูปแบบการส่งเสริมวินัยที่พัฒนาขึ้นไม่สอดคล้องกับแนวความคิดการให้อิสระและสิทธิส่วนบุคคลแบบสุดโต่ง เนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์ย่อมต้องการความสบายๆ อิสระ การมุ่งเน้นความอิสระและสิทธิส่วนบุคคลที่ว่า “ทำอะไรตามใจคือไทยแท้” ไม่อดทน ไม่อดกลั้น “รู้หลบเป็นปีกรู้หลีกเป็นหาง” หรือ “ศรีธนญชัย” เป็นอุปสรรคในการสร้างวินัยของคนไทยมาตั้งแต่ต้นและส่งผลเรื่อยมาให้นักเรียนไทยที่โตขึ้นมาขาดวินัย
ข้อเสนอแนะ
1) ควรมีการขยายผลโดยเรื่องของวินัยนักเรียนต้องให้มีการปฏิบัติทั้งโรงเรียนทุกโรงเรียน การปฏิบัติเป็นบางส่วนทำให้เกิดการเปรียบเทียบ การปฏิบัติตามระเบียบวินัยในเบื้องต้นเป็นเรื่องที่ต้องฝืนความรู้สึกของคน ดังนั้น การก้าวข้ามในการฝึกเบื้องต้นให้ได้เท่านั้นจึงจะสร้างวินัยได้ 2) การสร้างความยั่งยืนของรูปแบบการสร้างวินัยนักเรียนขึ้นอยู่กับการออกระเบียบกฎเกณฑ์ของโรงเรียน การเสริมแรงจูงใจทางบวก เช่นรางวัล และการลดแรงจูงใจทางลบ เช่น การลงโทษ เป็นเรื่องปกติที่ต้องมี แต่ทั้งนี้ผู้บริหารและครูเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องเห็นด้วยเป็นเบื้องต้น จึงจะนำไปสู่ความเป็นมรรคผลทางวินัยของนักเรียนและพลเมืองที่มีวินัยของชาติ 3) การนำรูปแบบดังกล่าวไปปฏิบัติในโอกาสต่อไปควรปรับกิจกรรมที่ 13 โดยปรับข้อความลดเรื่องการเดินเป็นแถวออกไปเป็น “การเดินเปลี่ยนคาบเรียน ไม่เล่น หรือหยอกล้อกันในขณะเดิน เดินด้วยความรู้สึกตัว เพื่อให้มีสมาธิในการเรียนวิชาต่อไป” เพื่อลดกิจกรรมที่ฝืนเกินไป ให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นต่อไป

กลุ่มเป้าหมายที่นำไปใช้
     สถานศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศ
ระดับการศึกษา
     มัธยมศึกษาตอนต้น+มัธยมศึกษาตอนปลาย
ระบบการศึกษา
     การศึกษาในระบบ
รองรับประเด็น
     ระบบการจัดการเรียนรู้
ประโยชน์ที่มีต่อผู้เรียน
     MQ (Moral Quotient) ความคิดด้านศีลธรรม

สรุปผลการวิเคราะห์เชื่อมโยงงานวิจัยกับแผนสำคัญของประเทศ
ยุทธศาสตร์ชาติ 3 ประเด็น 4.2
แผนแม่บท 11 แผนย่อย 3.3 แนวทางการพัฒนา 1)
แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เรื่อง 5 ประเด็น 5.2  
แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 12 ย.1
แผนการศึกษาแห่งชาติ ย.3 แนวทางการพัฒนา 3.3

เอกสาร
       ดาวน์โหลดเอกสาร


เชื่อมโยงงานวิจัยกับแผนสำคัญของประเทศ
      ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
            2. การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต
      แผนย่อยของแผนแม่บท 11 การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต
            3.3 แผนย่อยการพัฒนาช่วงวัยเรียนและวัยรุ่น
      แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เรื่องและประเด็นการปฏิรูปที่ 5
            5.2 การจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรม
      แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)
            ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์
      แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579
            ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
      นโยบายหลักรัฐบาล (12 ด้าน)
            8. การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย
      นโยบายเร่งด่วนรัฐบาล (12 เรื่อง)
            7. การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21