ฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านการศึกษาที่เชื่อมโยงแผนสำคัญของประเทศ
การวิจัยและพัฒนารูปแบบ กลไกการเสริมสร้างวินัยนักเรียนในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านความซื่อสัตย์สุจริต (2562,มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)

วัตถุประสงค์
1. เพื่อสร้างรูปแบบ กลไกการเสริมสร้างวินัยนักเรียนในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านความซื่อสัตย์สุจริต 2. เพื่อปฏิบัติการใช้รูปแบบ กลไกการเสริมสร้างวินัยนักเรียนในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านความซื่อสัตย์สุจริต 3. เพื่อประเมินและพัฒนาคู่มือการใช้รูปแบบ กลไกการเสริมสร้างวินัยนักเรียนในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านความซื่อสัตย์สุจริต
รูปแบบ/โมเดล
รูปแบบ กลไกการพัฒนาวินัยนักเรียนด้านความซื่อสัตย์สุจริต โดยกำหนดองค์ประกอบต่างๆ ของระบบเสริมสร้างวินัยนักเรียนด้านความซื่อสัตย์สุจริตในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 1. หลักการของรูปแบบ กลไกการเสริมสร้างวินัยนักเรียนในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านความซื่อสัตย์สุจริต มีหลักการสำคัญดังนี้ 1) กลไกการเสริมสร้างวินัยด้านความซื่อสัตย์สุจริตในสถานศึกษา มีบุคลากรฝ่ายต่างๆ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดแผนการดำเนินงานและกิจกรรมการเสริมสร้างวินัยและความซื่อสัตย์สุจริต โดยบุคลากรที่เป็นกลไกในการเสริมสร้างวินัยในสถานศึกษา ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียน ซึ่งจะต้องประสานงานร่วมมือกันตามทบาทหน้าที่เพื่อให้การเสริมสร้างวินัยนักเรียนบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2) การเสริมสร้างวินัยด้านความซื่อสัตย์สุจริต ประกอบด้วย กิจกรรม 3 ส่วน ได้แก่ 2.1) การเสริมสร้างวินัยด้านความซื่อสัตย์สุจริตผ่านกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ที่ริเริ่มโดยบุคลากรส่วนกลางของสถานศึกษา ซึ่งสถานศึกษาจะเป็นผู้ออกแบบกิจกรรมตามสภาพแวดล้อมและบริบทของตนเอง โดยอาศัยการแลกเปลี่ยนรู้ทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา 2.2) การเสริมสร้างวินัยด้านความซื่อสัตย์สุจริตผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียนที่สอดแทรกความรู้และการฝึกฝนเพื่อการปลูกฝังวินัยด้านความซื่อสัตย์สุจริตที่มีประสิทธิภาพนั้น ครูควรให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองจริง และกิจกรรมการปลูกฝังวินัย กิจกรรมการปลูกฝังวินัยสามารถดำเนินการได้หลายแนวทาง ซึ่งแนวปฏิบัติที่ส่งผลอย่างยั่งยืนต่อการพัฒนาวินัยของนักเรียน ได้แก่ วิธีการสร้างวินัยเชิงบวกซึ่งเป็นวิธีการกระตุ้นการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จากด้านในผ่านการครุ่นคิดด้วยตนเองอย่างมีสติในบรรยากาศที่ผ่อนคลายสงบ 2.3) การเสริมสร้างวินัยด้านความซื่อสัตย์สุจริตผ่านกิจกรรมการที่ดำเนินการ โดยความคิดริเริ่มของนักเรียน โดยการสนับสนุนของผู้บริหารและบุคลากรภายในสถานศึกษา เช่น การทำโครงงานคุณธรรม การจัดทำค่ายพัฒนาผู้นำด้านความซื่อสัตย์สุจริต การจัดตั้งธนาคารขยะ หรือธนาคารความดี เป็นต้น 3) เน้นสร้างวัฒนธรรมภายในสถานศึกษาให้มีวิถีปฏิบัติที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันกับสังคม การพัฒนาจิตเป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้ผู้เรียนมีภูมิคุ้มกันทางด้านจิตใจสามารถกำกับตนเองให้มีสติและปฏิบัติตนในทางที่ถูกต้องทางกาย วาจา และใจ รวมทั้งแนวคิดการสร้างองค์กรการเรียนรู้และการสร้างชุมชนการเรียนรู้ในสถานศึกษา เพื่อพัฒนากลไกด้านบุคลากรให้ดำเนินการเสริมสร้างวินัยในสถานศึกษาด้านความซื่อสัตย์สุจริตอย่างยั่งยืน 4) ผู้ที่จะนำรูปแบบไปใช้ในสถานศึกษา แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 โรงเรียนที่มีการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยด้านความซื่อสัตย์สุจริตแล้วแต่ต้องการพัฒนาการวางแผนงาน การดำเนินงาน และการประเมินให้เป็นระบบยิ่งขึ้น กลุ่มที่ 2 โรงเรียนที่ยังไม่มีการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยด้านความซื่อสัตย์สุจริตมาก่อน  2. วัตถุประสงค์ของรูปแบบ กลไกการเสริมสร้างวินัยนักเรียนในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านความซื่อสัตย์สุจริต มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้สถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสามารถพัฒนากลไกการเสริมสร้างวินัยด้านความซื่อสัตย์สุจริตของโรงเรียนให้มีการวางแผนงาน การดำเนินงานและการประเมินผลอย่างเป็นระบบ โดยเน้นการดำเนินงานพัฒนาแบบองค์รวมในทุกระดับทุกฝ่ายงานทั้งในและนอกสถานศึกษาและเป็นแกนนำในการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันในพื้นที่เพื่อการพัฒนาวินัยด้านความซื่อสัตย์สุจริตอย่างยั่งยืน  3. ขั้นตอนการดำเนินงานของรูปแบบ กลไกการเสริมสร้างวินัยนักเรียนในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านความซื่อสัตย์สุจริต มีขั้นตอนการดำเนินงานประกอบด้วย 3 ระบบหลัก ได้แก่ ระบบหลักที่ 1 ระบบวางแผนการเสริมสร้างวินัยนักเรียนด้านความซื่อสัตย์สุจริตในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระบบหลักที่ 2 ระบบดำเนินการเสริมสร้างวินัยนักเรียนด้านความซื่อสัตย์สุจริตในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งการดำเนินการเสริมสร้างวินัย แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การสร้างแกนนำของสถานศึกษาในการเสริมสร้างวินัยด้านความซื่อสัตย์สุจริต 2) การพัฒนากลไกภายในสถานศึกษาในการเสริมสร้างวินัยด้านความซื่อสัตย์สุจริต 3) การนิเทศติดตามช่วยเหลือเพื่อสร้างชุมชนการเรียนรู้ในการเสริมสร้างวินัยด้านความซื่อสัตย์สุจริต และ 4) การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสถานศึกษาในการเสริมสร้างวินัยด้านความซื่อสัตย์สุจริต ระบบหลักที่ 3 ระบบประเมินผลการเสริมสร้างวินัยนักเรียนด้านความซื่อสัตย์สุจริตในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ปัจจัยความสำเร็จ
บุคลากรเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินการพัฒนาวินัยด้านความซื่อสัตย์สุจริตอย่างยั่งยืนได้ กลไกด้านบุคลากรประกอบด้วย ผู้บริหาร ครู นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียน ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องและจำเป็นต้องมีบทบาทในการพัฒนาวินัยของนักเรียนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ผลจากการดำเนินงานในขั้นตอนที่ 2 ผลการดำเนินงานปรากฏว่า 1) กลไกด้านบุคลากร พบว่า บุคลากรฝ่ายต่างๆ ได้มีบทบาทในการเสริมสร้างวินัยด้านความซื่อสัตย์สุจริตมากขึ้นทั้งผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียน 2) กลไกด้านหลักสูตรและการเรียนการสอน สถานศึกษาส่วนใหญ่จะมอบหมายหน้าที่ให้บุคลากรกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ทำหน้าที่เป็นแกนนำเพื่อประสานงานกับบุคลากรฝ่ายต่างๆ และเป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยสอดแทรกความรู้และฝึกฝนวินัยด้านความซื่อสัตย์สุจริตให้กับนักเรียน 3) กลไกด้านกิจกรรมเสริมหลักสูตร ทุกโรงเรียนมีการกำหนดโครงการเพื่อเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตร ซึ่งสอดคล้องกับกิจกรรมการเสริมสร้างวินัยด้านความซื่อสัตย์สุจริต และวินัยด้านอื่นๆ 4) กลไกด้านระบบการบริหารจัดการสถานศึกษา ทุกโรงเรียนมีการกำหนดโครงการที่เชื่อมโยงกับกลไกการเสริมสร้างวินัยด้านความซื่อสัตย์สุจริต แล้วบรรจุโครงการเหล่านั้นไว้ในแผนปฏิบัติการประจำปีของโรงเรียน โดยปัจจัยที่เป็นเงื่อนไขความสำเร็จในการเสริมสร้างวินัยด้านความซื่อสัตย์สุจริตให้กับนักเรียนในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แก่ วิสัยทัศน์และภาวะผู้นำของผู้บริหารสถานศึกษา พื้นฐานด้านความใฝ่เรียนรู้และการมีเป้าหมายชีวิตของนักเรียน ความมั่นคงของครอบครัว และฐานะทางเศรษฐกิจชุมชนรอบสถานศึกษา ขนาดและตำแหน่งที่ตั้งของสถานศึกษา ความต่อเนื่องในการดำเนินงานและความพร้อมด้านทรัพยากรของสถานศึกษา
เงื่อนไขความสำเร็จ
ผลการดำเนินงานยังไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในตัวแปรวินัยด้านความซื่อสัตย์สุจริตในตัวนักเรียน อาจเนื่องจากการดำเนินงานยังไม่ระยะเวลาน้อยเกินไป ยังไม่สามารถพัฒนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แต่กลไกการดำเนินงานที่พัฒนาขึ้นยังมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จึงควรมีการศึกษาติดตามผลที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนในระยะยาวต่อไป
ข้อเสนอแนะ
1. การนำรูปแบบไปใช้ในขั้นตอนที่ 1 การสร้างแกนนำของสถานศึกษาเพื่อเป็นแกนนำในการเสริมสร้างวินัยให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาจึงควรชี้แจงให้สถานศึกษาคัดเลือกบุคลากรที่สามารถเป็นแกนนำได้ คือ มีภาวะผู้นำ และมีความสนใจในการเสริมสร้างวินัย และต้องมีความรับผิดชอบสูงด้วย โดยองค์ประกอบของบุคคลกร ที่จะให้เป็นแกนนำควรประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายบริหาร ตัวแทนครูแกนนำ และตัวแทนนักเรียนแกนนำ  2. การดำเนินการเสริมสร้างวินัยขั้นตอนที่ 2 การสร้างกลไกภายในสถานศึกษา ควรให้โรงเรียนมีส่วนร่วมในการออกแบบกระบวนการ สร้างความรู้ความเข้าใจ ร่วมวิเคราะห์ปัญหา และหาทางแก้ปัญหา โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนที่จะต้องเข้าร่วมกิจกรรม ปัจจัยที่ส่งผลต่อกิจกรรมนี้ คือ บริบทของแต่ละโรงเรียนมีความแตกต่างกัน เช่น ขนาดโรงเรียน ตำแหน่งที่ตั้ง สภาพชุมชน พื้นฐานด้านวินัยของนักเรียนมีความแตกต่างกัน ดังนั้น การดำเนินกิจกรรมในกลุ่มนักเรียนจึงควรจัดเป็นกลุ่มเล็กๆ จะมีประสิทธิภาพมากกว่า โดยในขั้นตอนการวิเคราะห์ปัญหาและร่วมกันคิดแก้ปัญหาวินัยด้านความซื่อสัตย์สุจริตภายในสถานศึกษานั้นควรมีครูและตัวแทนผู้บริหารเข้าร่วมรับฟัง ร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย จะทำให้เกิดการรับรู้ปัญหาร่วมกันและเป็นแรงผลักดันให้โรงเรียนพัฒนาแนวทางการเสริมสร้างวินัยด้านความซื่อสัตย์สุจริตได้สอดคล้องกับสภาพของนักเรียนมากยิ่งขึ้น  3. การดำเนินการเสริมสร้างวินัยขั้นตอนที่ 3 การนิเทศติดตามให้ความช่วยเหลือ เป็นกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นให้สถานศึกษาคิดหาวิธีการเสริมสร้างวินัยด้านความซื่อสัตย์สุจริตให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งผลจากการดำเนินงาน พบว่า การนิเทศด้วยกระบวนการแบบ PLC เน้นการรับฟังความคิดเห็นของบุคลากรที่เป็นผู้ปฏิบัติการ และช่วยกันสะท้อนแนวคิดหาทางพัฒนาร่วมกันเป็นวิธีการที่ทำให้โรงเรียนมีความริเริ่มสร้างสรรค์มากขึ้น ดังนั้น บทบาทของผู้นิเทศจึงควรเป็นผู้รับฟัง เป็นผู้สนับสนุนแนวคิดที่โรงเรียนริเริ่มโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ และเสนอแนะเพื่อต่อยอดแนวคิดที่โรงเรียนริเริ่มนั้นให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น  4. การดำเนินการเสริมสร้างวินัยขั้นตอนที่ 4 การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสถานศึกษา เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ ทำให้โรงเรียนมีความเชื่อมั่นในแนวคิดหลักการและวิธีการเสริมสร้างวินัยที่สถานศึกษาได้ริเริ่มขึ้น นอกจากนั้นยังได้เรียนรู้ถึงวิธีการของสถานศึกษาอื่นในการเสริมสร้างวินัยด้านความซื่อสัตย์สุจริตที่ประสบความสำเร็จหรือมีแนวโน้มที่ดี ดังนั้น กิจกรรมนี้จึงควรจัดกลุ่มให้บุคลากรต่างสถานศึกษาได้เข้าร่วมกลุ่มด้วยกันเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กลุ่มเป้าหมายที่นำไปใช้
     สถานศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศ
ระดับการศึกษา
     มัธยมศึกษาตอนต้น
ระบบการศึกษา
     การศึกษาในระบบ
รองรับประเด็น
     ระบบการจัดการเรียนรู้
ประโยชน์ที่มีต่อผู้เรียน
     MQ (Moral Quotient) ความคิดด้านศีลธรรม

สรุปผลการวิเคราะห์เชื่อมโยงงานวิจัยกับแผนสำคัญของประเทศ
ยุทธศาสตร์ชาติ 3 ประเด็น 4.2
แผนแม่บท 11 แผนย่อย 3.3 แนวทางการพัฒนา 1)
แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เรื่อง 5 ประเด็น 5.2  
แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 12 ย.1
แผนการศึกษาแห่งชาติ ย.3 แนวทางการพัฒนา 3.3

เอกสาร
       ดาวน์โหลดเอกสาร


เชื่อมโยงงานวิจัยกับแผนสำคัญของประเทศ
      ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
            2. การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต
      แผนย่อยของแผนแม่บท 11 การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต
            3.3 แผนย่อยการพัฒนาช่วงวัยเรียนและวัยรุ่น
      แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เรื่องและประเด็นการปฏิรูปที่ 5
            5.2 การจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรม
      แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)
            ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์
      แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579
            ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
      นโยบายหลักรัฐบาล (12 ด้าน)
            8. การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย
      นโยบายเร่งด่วนรัฐบาล (12 เรื่อง)
            7. การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21