ฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านการศึกษาที่เชื่อมโยงแผนสำคัญของประเทศ
การวิจัยและพัฒนารูปแบบ กลไกการเสริมสร้างวินัยนักเรียนในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานด้านการมีจิตอาสา เสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น (2562,มหาวิทยาลัยทักษิณ)

วัตถุประสงค์
1. เพื่อสร้างรูปแบบและกลไกการเสริมสร้างวินัยนักเรียนในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านการมีจิตอาสา เสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น  2. เพื่อปฏิบัติการใช้รูปแบบและกลไกการเสริมสร้างวินัยนักเรียนในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านการมีจิตอาสา เสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น  3. เพื่อประเมินและจัดทำคู่มือการเสริมสร้างวินัยนักเรียนในสถานศึกษา ด้านการมีจิตอาสา เสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น
รูปแบบ/โมเดล
รูปแบบและกลไกการเสริมสร้างวินัยด้านการมีจิตอาสา เสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่นในสถานศึกษา  1) หลักการ (1) ให้ความสำคัญกับตัวนักเรียน (Human Oriented) ในมิติความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human Right) (2) เน้นการปรับเปลี่ยนเจตคติที่เกิดจากความต้องการเปลี่ยนจากภายในตัวตนของนักเรียน (Internal Change) (3) ใช้กิจกรรมเป็นฐานในการสร้างเจตคติที่ดีและเรียนรู้จากการปฏิบัติเพื่อสร้างความยั่งยืน (Sustainable) (4) ความตั้งใจ จริงใจ ใส่ใจ จริงจัง ต่อเนื่องของบุคคลที่เกี่ยวข้อง (5) ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง (Participation) 6) ยึดหลักการครู คือ ผู้สร้างผู้เรียนที่มีมีวินัย คุณธรรม จริยธรรม มีกระบวนการคิดและกระบวนการปัญญา (Teacher as Student Contributors)  2) รูปแบบเสริมสร้างวินัยด้านการมีจิตอาสา เสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่นในสถานศึกษา (3SModel) คือ S1 (Service mind) จิตอาสา หมายถึง จิตที่มีความสุขเมื่อได้ช่วยเหลือผู้อื่นและสังคม ส่วนรวมด้วย สิ่งของ เงินทอง เวลาแรงกายและสติปัญญาเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างสมัครใจ ไม่มุ่งหวังสิ่งใดตอบแทน ประกอบด้วยพฤติกรรม ดังนี้ (1) ต่อบุคคล เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือผู้อื่นด้วยปัจจัยสี่ ทุนหรือทรัพย์สินสิ่ง ของ ความรู้ชี้แนะในสิ่งที่มีประโยชน์ ชักจูงในสิ่งที่ดีงามไม่เอาเปรียบผู้อื่นเพื่อบรรเทาความต้องการของผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน (2) ต่อสังคม ร่วมมือกับผู้อื่นในการพัฒนาสังคม บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ให้บริการและอำนวยความสะดวกในส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ตั้งใจทำงานส่วนรวมจนสำเร็จ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน แสดงออกโดยไม่หวังผลตอบแทน  S2 (Sacrifice) เสียสละ หมายถึง การแบ่งปันให้แก่บุคคลอื่นที่ควรให้ด้วยกำลังกาย ทรัพย์สิน สติปัญญา พฤติกรรมที่แสดงออกถึงความเสียสละ ประกอบด้วยพฤติกรรมดังนี้ (1) ทางกาย คือ การช่วยเหลือผู้อื่นที่ทำกิจการงานไม่นิ่งดูดายช่วยเหลืองานสาธารณประโยชน์ (2) ทางวาจา คือ การแสดงความเห็นช่วยแก้ปัญหาเดือดร้อนแก่บุคคลอื่น (3) ทางใจ คือ ยินดีเมื่อผู้อื่นมีความสุขและประสบความสำเร็จ (4) ทางทรัพย์สิน คือ การแบ่งปันเครื่องอุปโภคบริโภคให้แก่ผู้ที่ขัดสนและสละทรัพย์เพื่อสาธารณกุศล  S3 (Sympathy) เห็นอกเห็นใจผู้อื่น หมายถึง ความสามารถที่จะเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นที่กำลังประสบกับเหตุการณ์ต่าง ๆ และมีการแสดงออกทางอารมณ์ได้เหมาะสมกับสถานการณ์นั้น ๆ ประกอบด้วยพฤติกรรมดังนี้ (1) สามารถเข้าใจอารมณ์และความรู้สึก การแสดงออกของผู้อื่นโดยสามารถเดาความรู้สึกของผู้อื่นจากการแสดงสีหน้า พยายามแปลความหมายทั้งสีหน้าท่าทางคนรอบข้างสามารถคาดเดาความรู้สึกของผู้อื่นได้ (2) สามารถเอาใจเขามาใส่ใจเรา ใช้ประสบการณ์ และความรู้สึกของตนเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ของคนอื่น สามารถตอบสนองได้สอดคล้องกับสถานการณ์ พฤติกรรมหรือการกระทำของผู้อื่นโดยใช้ภาษาท่าทางและภาษาพูดที่เป็นไปในทิศทางที่เอื้ออำนวย บ่งบอกถึงความเข้าใจและเห็นใจผู้อื่น ฐานคิด - นักเรียนมีพฤติกรรมและลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน  - มาจากครอบครัวที่เลี้ยงดูไม่เหมือนกัน - ความพร้อมของครอบครัว ผู้ปกครอง - วิธีคิดเชิงเหตุผลแตกต่างกัน - มาจากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน - มีความเชื่อที่แตกต่างกัน กระบวนการ - เน้นการเรียนรู้ที่ใช้กิจกรรมเป็นฐาน (Activity based) ที่ออกแบบกิจกรรมโดยใช้ทฤษฎีจริยธรรมของโคลห์เบิร์ก และทฤษฎีต้นไม้จริยธรรมของดวงเดือน พันธุมนาวิน เน้นกิจกรรมปลูกฝังวินัยเชิงลึกและยั่งยืน  - ใช้การดูแล (Caring) จากทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วม/จริงใจ/ความรัก ของครู ผู้ปกครอง ความเมตตามีความต่อเนื่อง (Continuing) เป็นการปฏิบัติที่เน้นแบบมนุษย์พึงปฏิบัติต่อมนุษย์ (Human approach to human) ผลลัพธ์ที่เกิดกับนักเรียน - นักเรียนมีพฤติกรรมการมีวินัยด้านการมีจิตอาสา เสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น - นักเรียนมีเจตคติที่ดีต่อการปฏิบัติตามวินัยเกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายใน - เพื่อนนักเรียนเป็นแรงผลักดันที่จะช่วยกันเสริมสร้างวินัย - ครู ผู้บริหารเป็นต้นแบบด้านวินัย - นักเรียนเป็นผู้นำด้านการเสริมสร้างวินัยด้านการมีจิตอาสา เสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ผลลัพธ์ที่เกิดกับสถานศึกษา - สถานศึกษาเป็นแหล่งสร้างเสริมวินัยให้แก่นักเรียน - มีกิจกรรมการเสริมสร้างวินัยทั้งในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียน - สถานศึกษามีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ลดปัญหาด้านพฤติกรรมส่งผลต่อคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียน - สร้างเยาวชนที่มีวินัยด้านการมีจิตอาสา เสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่นสู่ชุมชนและสังคม  3) ระบบและกลไกการจัดกิจกรรม ใช้กระบวนการ PDCA และกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (PLC) ในการดำเนินกิจกรรมทั้งนอกชั้นเรียนและในชั้นเรียน 3.1) กิจกรรมนอกชั้นเรียน หน่วยที่ 1 การสร้างสรรค์สังคมจิตอาสาพัฒนาสถานศึกษา หน่วยที่ 2 เพื่อนช่วยเพื่อน พี่ช่วยน้อง น้องช่วยพี่ หน่วยที่ 3 สภานักเรียน หน่วยที่ 4 จรรโลงศาสนา หน่วยที่ 5 อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม 3.2) กิจกรรมในชั้นเรียน - การบูรณาการในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม * การสอดแทรกในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมและทุกรายวิชา * บูรณาการวิธีการเรียนรู้ในรายวิชาหน้าที่พลเมือง  4) คำสำคัญของรูปแบบและกลไก (1) รูปแบบการเสริมสร้างวินัยนักเรียนในสถานศึกษาด้านจิตอาสา เสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น  (2) ระบบและกลไกการเสริมสร้างวินัยนักเรียนในสถานศึกษาด้านจิตอาสา เสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น (3) การมีวินัย  (4) 3S Model (5) การมีส่วนร่วม (6) การดูแล ช่วยเหลือ (7) ชุมชนวิชาชีพครูเพื่อการเรียนรู้ด้านการเสริมสร้างวินัยด้านการมีจิตอาสา เสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น (PLC) มีองค์ประกอบหลักที่สำคัญ ดังนี้ (7.1) คน (7.2) บรรยากาศ (7.3) สิ่งอำนวยความสะดวก (8) ชุมชนภาคีเครือข่าย (9) การวัดและประเมินผล มีการประเมิน 3 ด้าน (9.1) ด้านการมีจิตอาสา (9.2) ด้านการเสียสละ (9.3) ด้านเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (10) การบูรณาการ (10.1) การสอดแทรก (10.2) วิธีเรียนรู้แบบบูรณาการ (11) Constructivism based on PDCA ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน (11.1) ขั้นวางแผนเตรียมความพร้อมการมีวินัยเสริมสร้างวินัยด้านการมีจิตอาสา เสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น (11.2) ขั้นปฏิบัติการเสริมสร้างวินัยด้านการมีจิตอาสา เสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น (11.3) ขั้นประเมินการมีวินัยด้านการมีจิตอาสา เสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น (11.4) ขั้นปรับปรุง สรุปและสร้างองค์ความรู้กิจกรรมเสริมสร้างวินัยด้านการมีจิตอาสา เสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น 5) บทบาทผู้ที่เกี่ยวข้องในการเสริมสร้างวินัย (1) บทบาทผู้บริหาร (2) บทบาทครู (3) บทบาทผู้ปกครอ (4) บทบาทคณะกรรมการสถานศึกษา (5) บทบาทนักเรียน (6) บทบาทชุมชน/สังคม (7) บทบาทภาคีเครือข่าย 
ปัจจัยความสำเร็จ
การเสริมสร้างวินัยนักเรียนด้านการมีจิตอาสา เสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ในสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่จะเกิดผลเป็นรูปธรรมนั้น ต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายทั้งในและนอกสถานศึกษา หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ร่วมมืออย่างจริงจัง ใสใจ ผลที่เกิดจะไม่ชัดเจนและไม่ได้ผล หากพิจารณาจะพบว่า ในสถานศึกษา ผู้บริหารกำหนดนโยบาย สนับสนุน ใส่ใจ เป็นพี่เลี้ยง (Mentor) และผู้สอนงาน (Coach) ให้ครู และให้ความสำคัญ มีความชัดเจนในการดำเนินงานการเสริมสร้างวินัยนักเรียนในสถานศึกษาสามารถเดินไปได้ ควบคู่กับครูที่ทำหน้าที่เป็นโค้ชและพี่เลี้ยงให้นักเรียน สนับสนุนส่งเสริมให้นักเรียนได้คิดวิธีการเสริมสร้างวินัยด้วยตนเองร่วมกันและทำอย่างต่อเนื่อง เป็นการเสริมสร้างวินัยเชิงบวก มีการให้เกียรติต่อกันทุกฝ่าย ทั้งนี้บรรยากาศในสถานศึกษาต้องเป็นบรรยากาศที่มีความรัก ความอบอุ่น ความจริงใจ มีต้นแบบที่ดีนักเรียนจะสามารถปรับพฤติกรรมวินัยได้ เกิดความรักความสามัคคีในหมู่คณะ เป็นการแสดงวินัยในรูปแบบสังคมมิติที่เป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายในตนของนักเรียนจะทำให้เกิดความยั่งยืน
เงื่อนไขความสำเร็จ
1. การนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้ไปใช้ 1) การเรียนรู้หลักการตอบสนอง ผู้เรียนตั้งประเด็นคำถามที่นำไปสู่การทำโครงการ การพัฒนาวินัยด้านการมีจิตอาสา เสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น 2) ระบบสังคม การมีทักษะการทำงานร่วมกันและการสร้างความรู้ด้วยตนเองจากการศึกษาที่เน้นทักษะกระบวนการกลุ่ม 3) สิ่งสนับสนุน สถานศึกษาให้ความร่วมมือในการกำหนดโครงการและปฏิบัติกิจกรรมสร้างเสริมวินัย อำนวยความสะดวกด้านสถานที่ เวลา และคณะครูที่ร่วมพัฒนา  2. การวัดและประเมินผล 1) ความรู้ความเข้าใจในการมีวินัย 2) วินัยด้านการมีจิตอาสา เสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น 3) ความพึงพอใจต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้
ข้อเสนอแนะ
1) ผู้บริหารระดับนโยบายชาติต้องให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างวินัยนักเรียนในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานด้านการมีจิตอาสา เสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น อย่างจริงจัง มีความชัดเจน และมีแนวปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติในสถานศึกษา ให้เป็นวาระแห่งชาติสำหรับการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยในสถานศึกษาและในชุมชน  2) การดำเนินงานเสริมสร้างวินัยด้านการมีจิตอาสา เสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่นในสถานศึกษาควรเป็นรูปแบบการบูรณาการในการจัดกระบวนการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้หรืองานกิจกรรมพัฒนานักเรียนและควรเป็นระบบทั้งสถานศึกษา 3) การติดตามงานด้านการเสริมสร้างวินัยนักเรียนด้านการมีจิตอาสา เสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่นในสถานศึกษาควรมีตัวชี้วัดที่สามารถประเมินได้ และไม่เป็นการเพิ่มภาระงานให้ครูผู้ทำการประเมิน 4) การดำเนินงานเสริมสร้างวินัยนักเรียนในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ควรเป็นการดำเนินงานที่เป็นระบบทั้งหมด (Whole School Approach) ตั้งแต่ผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน รวมทั้งการเชื่อมต่อกับครอบครัว ชุมชน ภาคีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต้องเริ่มจากความเข้าใจที่ตรงกัน มีเป้าหมายเดียวกัน ให้ความสำคัญกับเรื่องวินัย มุ่งมั่น ใส่ใจที่จะเสริมสร้างวินัยด้านการมีจิตอาสา เสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่นให้แก่นักเรียนหรือเยาวชน 5) การออกแบบกิจกรรมการเสริมสร้างวินัยนักเรียนด้านการมีจิตอาสา เสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ในสถานศึกษาทั้งในรูปแบบกิจกรรมบูรณาการในกลุ่มสาระการเรียนรู้ หรือกิจกรรมพัฒนานักเรียน ต้องให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรม ให้นักเรียนได้ร่วมคิดร่วมออกแบบกิจกรรมและร่วมดูแลพฤติกรรมของตนเองและเพื่อน ภายใต้ครูที่ดูแลให้คำปรึกษาและสามารถขยายผลไปยังผู้อื่นได้เพราะมีตัวอย่างที่ชัดเจนเชิงประจักษ์ 6) การรณรงค์การเสริมสร้างวินัยนักเรียนด้านการมีจิตอาสา เสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ในสถานศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดำเนินการเชิงระบบ ทั้งในสถานศึกษาและชุมชนนอกสถานศึกษา และควรให้นักเรียนจัดดำเนินการรณรงค์เรื่องนี้ด้วยกลุ่มและทีมงานของนักเรียน ภายใต้การดูแลของครูที่ปรึกษา 7) ให้ผู้เรียนในแต่ละสถานศึกษากำหนดมาตรการการดำเนินงานด้านการเสริมสร้างวินัยนักเรียนด้านการมีจิตอาสา เสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ทั้งมาตรการการชื่นชม การสนับสนุนผู้ที่ทำดีมีวินัย และมาตรการผู้ที่ไม่มีวินัย ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของนักเรียนและทุกฝ่าย และจัดการให้เป็นรูปธรรม มีฝ่ายที่คอยดูแลวินัยโดยเฉพาะอาจเป็นลักษณะคล้าย ๆ กับสารวัตรนักเรียนดูแลสอดส่องผู้เรียนให้มีวินัยด้านการมีจิตอาสา เสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น 8) การชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ชุมชน หรือภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างวินัยนักเรียนด้านการมีจิตอาสา เสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่นควรมีการสื่อสารและมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน มีความต่อเนื่อง และเป็นกัลยาณมิตรโดยมีเป้าหมายเดียวกันในการร่วมช่วยเหลือสร้างคนดีมีวินัยสู่สังคม 9) การสร้างคนต้นแบบการมีวินัยด้านการมีจิตอาสา เสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ทั้งในสถานศึกษาและในชุมชน เพื่อนักเรียนมีตัวอย่างผู้ที่เป็นคนดี มีวินัยให้เห็นจากบุคคลที่อยู่รอบข้างอย่างใกล้ชิด
กลุ่มเป้าหมายที่นำไปใช้
     สถานศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศ
ระดับการศึกษา
     มัธยมศึกษาตอนต้น
ระบบการศึกษา
     การศึกษาในระบบ
รองรับประเด็น
     ระบบการจัดการเรียนรู้
ประโยชน์ที่มีต่อผู้เรียน
     MQ (Moral Quotient) ความคิดด้านศีลธรรม

สรุปผลการวิเคราะห์เชื่อมโยงงานวิจัยกับแผนสำคัญของประเทศ
ยุทธศาสตร์ชาติ 3 ประเด็น 4.2
แผนแม่บท 11 แผนย่อย 3.3 แนวทางการพัฒนา 1)
แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เรื่อง 5 ประเด็น 5.2
แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 12 ย.1 
แผนการศึกษาแห่งชาติ ย.3 แนวทางการพัฒนา 3.3

เอกสาร
       ดาวน์โหลดเอกสาร


เชื่อมโยงงานวิจัยกับแผนสำคัญของประเทศ
      ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
            2. การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต
      แผนย่อยของแผนแม่บท 11 การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต
            3.3 แผนย่อยการพัฒนาช่วงวัยเรียนและวัยรุ่น
      แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เรื่องและประเด็นการปฏิรูปที่ 5
            5.2 การจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรม
      แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)
            ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์
      แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579
            ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
      นโยบายหลักรัฐบาล (12 ด้าน)
            8. การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย
      นโยบายเร่งด่วนรัฐบาล (12 เรื่อง)
            7. การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21