ฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านการศึกษาที่เชื่อมโยงแผนสำคัญของประเทศ
การพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (2561,มหาวิทยาลัยมหิดล)

วัตถุประสงค์
1. เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษและการจัดการศึกษาบูรณาการในเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนของประเทศไทย  2. เพื่อศึกษาสารวจต้นทุนด้านชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรมของเยาวชนและประชากรในเขตเศรษฐกิจพิเศษ  3. เพื่อวิเคราะห์ผล/ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการออกแบบการจัดการศึกษาบูรณาการในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามบริบทต้นทุนและศักยภาพของพื้นที่ รวมทั้งตามยุทธศาสตร์การพัฒนาของแต่ละพื้นที่  4. เพื่อให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่เหมาะสมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

รูปแบบ/โมเดล
จังหวัดเชียงราย ระดับประถมศึกษา สถานศึกษาได้บูรณาการเนื้อหาและทักษะที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจพิเศษเข้าสู่แผนการเรียนการสอนของสถานศึกษาเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ (1)ปรับแผนการเรียนการสอนเป็น 3 สายให้เข้ากับพื้นฐานการเรียนที่มีอยู่และเพื่อสอดรับกับเป้าหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ สายวิทยาศาสตร์/คณิตศาสตร์ สายภาษา (อังกฤษและจีน) และสายศิลป์ศักยภาพด้านอาชีพ (2) พัฒนาทักษะอาชีพ โดยใช้ชั่วโมงในกิจกรรม "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" เช่น ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือน สวนผักนักเกษตรน้อย อาหารคลีนเพื่อสุขภาพ และมหัศจรรย์แห่งภาษา ระดับมัธยมศึกษา มุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ในระบบทวิภาคี และ ทวิศึกษา เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ในด้านเศรษฐกิจโดยเพิ่มเติมหลักสูตรพัฒนาอาชีพควบคู่กับสายสามัญ สถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาได้นำทักษะวิชาชีพเข้าสู่ห้องเรียนโดยจัดเป็น "โครงการห้องเรียนอาชีพ" โดยสามารถเปิดสอนอาชีพที่สอดคล้องกับบริบทจำเป็นและความต้องการแรงงานในพื้นที่ ซึ่งโรงเรียนต้องประสานงานวางแผนการจัดการเรียนการสอนห้องเรียนอาชีพร่วมกันกับสถานศึกษาอาชีวศึกษา โดยมีเนื้อหาทักษะการบริหารจัดการ การบริหารธุรกิจขั้นพื้นฐาน ทักษะอาชีพอื่นๆ ที่สอดคล้องกับพื้นที่ พร้อมทั้งจัดประสบการณ์ให้นักเรียนมัธยมด้วยการฝึกงานจริงในสถานประกอบการต่างๆในช่วงปิดภาคเรียน  ระดับอาชีวะศึกษาและวิทยาลัยการอาชีพ พยายามผลิตนักศึกษาให้สอดคล้องกับเป้าหมายเศรษฐกิจ ด้านท่องเที่ยวและการค้าชายแดน โดยวิทยาลัยการอาชีพเชียงราย เพิ่มหลักสูตรสาขาวิชาโลจิสติกส์ และวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชืยงราย เพิ่มวิชาเกี่ยวกับสปา (หลักสูตรระยะสั้น) วิทยาลัยการอาชีพได้เริ่มทำความร่วมมือกับประเทศเมียนมาร์ เพื่อสร้างแนวทางการจัดการอาชีวศึกษาพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมาร์ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน  ระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎเพิ่มกลุ่มวิชา "การเป็นผู้ประกอบการในเขตเศรษฐกิจพิเศษ" เพื่อเตรียมความพร้อมแก่นักศึกษาสำหรับการเป็นผู้ประกอบการในยุคดิจิทัล รวมทั้งนโยบายภาครัฐและเอกชนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ พร้อมทั้งมีการฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จริง  จังหวัดนราธิวาส ระดับประถมศึกษา 1.กำหนดหน่วยการเรียนรู้ในรายวิชาพื้นฐานที่มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ 8 กลุ่มสาระ 2.จัดเป็นรายวิชาเพิ่มเติม เช่น รายวิชาแปรรูปอาหารฮาลาล ภาษาอังกฤษเพื่ออาชีพ คอมพิวเตอร์เบื้องต้น เทคโนโลยีสารสนเทศ 3.จัดในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ประกอบด้วย ด้านภาษา (อังกฤษ มลายู อาหรับ) ด้านอาชีพ (เบเกอรี่ โรตี สมุนไพร น้ำดื่ม) ด้านทักษะอาชีพ ด้านกีฬาและสุขภาพ ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม 4.การเชิญวิทยกรจากภายนอกมาจัดการเรียนรู้ ระดับมัธยมศึกษา 1.กำหนดเป็นหน่วยการเรียนรู้ในรายวิชาพื้นฐานกลุ่มสาระและระดับชั้นโดยการจัดการเรียนรการสอน สอนทั้งในห้องเรียนและนอกสถานที่ 2.การจัดเป็นรายวิชาเพิ่มเติมของกลุ่มสาระในแต่ละระดับชั้น เช่น กลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ 3. จัดเป็นกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ในลักษณะชมรมหรือชุมนุมต่างๆ 4. จัดเป็นกิจกรรมเพิ่มเวลารู้ตามนโยบายลดเวลาเรรียนเพิ่มเวลารู้  ระดับอาชีวะ มีการจัดการศึกษาแบบพิเศษ 2 ระบบ คือ ระบบทวิภาคี และ ระบบทวิศึกษา  ระดับอุดมศึกษา วิทยาลัยชุมชนนราธิวาส เน้นหลักสูตรอนุปริญญาและหลักสูตรระยะสั้นเพื่อรองรับการมีงานทำ และให้ความรู้ ความเข้าใจในการเป็นผู้ประกอบการ และหลักสูตรระยะสั้นทางภาษาได้แก่ ภาษาอังกฤษ จีน มลายูกลาง พม่า มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มีการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับการเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ โดยมีหลักสูตรอุตสาหกรรม วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาโยธา ไฟฟ้า วิศวกรรมยานยนต์ พร้อมหลักสูตรบัญชีบัณฑิต หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเกษตรศาสตร์ ร่วมพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้กับนักเรียนในระดับประถมและมัธยมผ่าน "โครงการห้องเรียนอาชีพ" โดยจัดกิจกรรมสอนภาษาอังกฤษและจีนให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านทอนและโรงเรียนตากใบ  จังหวัดสระแก้ว  ระดับประถมศึกษา โรงเรียนแกนนำมีหลักสูตรการศึกษาเพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว คือ "หลักสูตรเสริมสร้างอัตลักษณ์คนไทยและพลเมืองคุณภาพของอาเซียน" โดยบูรณาการ 3 ทักษะ ได้แก่ ทักษะวิชาการ ทักษะวิชาชีพและทักษะชีวิต และหลักสูตรทักษะภาษาต่างประเทศเพื่อการสื่อสาร ภาษาด้านทักษะชีวิต เช่น การใช้ภาษาต่างประเทศเพื่อการสื่อสาร การแลกเปลี่ยนเงินตรา กระบวนการผ่านแดน กฎหมายแนวปฏิบัติและสังคมวัฒนธรรมของประเทศที่แตกต่างกัน และฝึกทักษะอาชีพของท้องถิ่นและความต้องการของสถานประกอบการ เช่น เกษตรกรรม (พืชไร่ ไม้ผล พืชพลังงาน) และปศุสัตว์(โคนม) และงานพื้นฐานงานช่างแขนงต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนครูสอนภาษาไทย-กัมพูชาและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ประเพนี ระหว่างนักเรียนไทย-กัมพูชา การสนับสนุนโครงการโรงเรียนคู่ขนานระหว่างจังหวัดสระแก้ว้กับจังหวัดบันเตียเมียนเจย กัมพูชา  ระดับมัธยมศึกษา "โครงการห้องเรียนอาชีพ" โดยสามารถเปิดสอนอาชีพที่สอดคล้องกับบริบทจำเป็น และความต้องการแรงงานในพื้นที่ ซึ่งโรงเรียนต้องประสานงานวางแผนการจัดการเรียนการสอน ห้องเรียนอาชีพ ร่วมกันกับสถานศึกษาอาชีวศึกษา  ระดับอาชีวะ  หลักสูตรทวิภาคี การบริหารจัดการหลักสูตรแบบมีส่วนร่วมระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการในเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว"  ระดับอุดมศึกษา หลักสูตรสหกิจศึกษา การบริหารจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมในสาขาที่สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ เช่น โลจิสติกส์ การค้าชายแดน สถาบันการศึกษาร่วมมือกับสถานประกอบการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่งเสริมสนับสนุนเด็กที่มีความสามารถพิเศษและมีความพร้อมศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพและได้รับการศึกษากลุ่มวิชาชีพเฉพาะ 7 สาขา ซึ่งสามารถเคลื่อนย้ายในประชาคมอาเซียน ได้แก่ วิศวกร พยาบาล สถาปนิก การสำรวจ นักบัญชี ทันตแพทย์และแพทย์  มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ศูนย์สระแก้ว เปิดโครงการทายาทเกษตรกร โดยรับสมัครนักศึกษาที่มีครอบครัวเป็นเกษตรกรเข้าศึกษา เพื่อพัฒนาความสามารถการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตร ทั้งระบบเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ  จังหวัดกาญจนบุรี ระดับประถมศึกษา สถานศึกษาได้บูรณาการเนื้อหาและทักษะที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจพิเศษ เข้าสู่แผนการเรียนการสอนของสถานศึกษา 3 รูปแบบ ได้แก่ (1)สร้างหน่วยการเรียนรู้เฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อนำไปบูรณาการในกลุ่มสาระวิชาที่เกี่ยวข้องและสามารถเพิ่มได้ (2)พัฒนาทักษะอาชีพโดยใช้ชั่วโมงในกิจกรรม "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" (3)พัฒนารายวิชาใหม่เป็น "เศรษฐกิจพิเศษ" ระดับมัธยมศึกษา พัฒนาหลักสูตรการสอนให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมีความชัดเจน เป็นต้นแบบในพื้นที่ได้  ระดับอาชีวะ มีการจัดการศึกษาแบบทวิภาคี การศึกษาแบบทวิศึกษา ระดับอุดมศึกษา ศูนย์พม่าศึกษา มีการสอนและอบรมภาษาพม่า  จังหวัดตาก  ระดับประถมศึกษา จัดการศึกษาที่ลดความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นสำคัญ โดยร่างหลักสูตรแกนกลางให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ อาชีพ ภาษาและวัฒนธรรม รวมทั้งด้านเกษตรกรรม โดยมีโครงการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาชีพในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและโครงการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษภาษาเมียนมาร์ และจีน  ระดับมัธยมศึกษา พัฒนาทักษะอาชีพในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ภาษาเมียนมาร์ และจีน สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างโรงเรียน ผู้ประกอบการ โรงเรียนนำร่อง  ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้เรื่อง กฎ ระเบียบ และกฎหมายขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ระหว่างกัน  ระดับอาชีวะ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตาก จัดการศึกษาในระบบทวิภาคี โดยส่งเสริมนักศึกษาที่มีฐานะยากจนให้ไปศึกษาและทำงานในสถานประกอบการ  ระดับอุดมศึกษา ผลิตบัณฑิตตามความต้องการของตลาดแรงงานอีกทั้งยังบริการวิชาการด้วยการนำความรู้ไปเผยแพร่สู่ชุมชน  จังหวัดนครพนม ระดับประถมศึกษา เขต 1 มุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนสู่ประชาคมอาเซียน เช่น การสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร  เขต 2 มีการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เนื่องจากอำเภอท่าอุเทน เป็นอำเภอชายแดนที่ติดกับประเทศลาว ชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และการทำประมง ซึ่งการจัดการเรียนการสอนส่วนใหญ่มุ่งเน้นการบูรณาการ สอดแทรกสาระการเรียนรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ การปลูกยางพารา ซึ่งมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดนครพนม  ระดับมัธยมศึกษา 1)มุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ 2)มีการบูรณาการเนื้อหาที่สอดคล้องกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เข้ากับสาระการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น การท่องเที่ยวเชิง ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม บูรณาการเข้ากับสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม 3) มีรายวิชาที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานเพื่อการต่อยอดสู่การเรียนในระดับอาชีวศึกษา หรือระดับมหาวิทยาลัยต่อไป เช่น วิชาโลจิสติกส์และการบริการ วิชาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม  ระดับอาชีวะ ดำเนินการพัฒนานักเรียนในหลักสูตรอุตสาหกรรม และหลักสูตรวิชาพาณิชกรรมและบริหารธุรกิจ การตลาดและโลจิสติกส์ หลักสูตรเสริมทักษะด้านภาษาอังกฤษ เวียดนาม และลาว มีการจัดการศึกษาแบบทวิภาคี การศึกษาแบบทวิศึกษา การจัดการศึกษาหลักสูตรระยะสั้น และหลักสูตร MEP ให้ครอบคลุมทุกวิชา  ระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยนครพนมเปิดคณะเกษตรและเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาโลจิสติกส์  มหาวิทยาลัยนครพนม กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินยื่นคำร้องขอเป็นองค์กรรับรองสมรรถนะบุคคลกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ใน 3 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาชีพบริการยายนต์ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิตอลคอนเทนต์ และสาขาโลจิสติก และการตั้งศูนย์อบรม CAD CAM คอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบและการผลิต 
ปัจจัยความสำเร็จ
จังหวัดเชียงราย (1)การขับเคลื่อนงานเพื่อพัฒนาการศึกษาในจังหวัดเชียงราย ดำเนินการโดย "สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย" โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เพื่อดูแลการศึกษาทุกระบบไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาปฐมวัย กศน. อาชีวศึกษา การศึกษาพิเศษ เอกชน รวมทั้งในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ทำให้ขับเคลื่อนนโยบายในการบริหารงานด้านการศึกษาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างเป็นเอกภาพ (2) ศธจ.เชียงราย ในฐานะหน่วยงานกลางทางการศึกษาของจังหวัด ร่วมกับหน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษาทุกระดับของจังหวัดเชียงราย และองค์กรเอกชนในพื้นที่ ร่วมกันจัดทำ "แนวทางการบริหารจัดการ การจัดการศึกษาในเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงราย" เพื่อให้หน่วยงานการศึกษาทุกระดับและทุกสังกัดใช้เป็นแนวทางการบริหารจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของจังหวัดเชียงราย ให้มีคุณภาพและเหมาะสมกับศักยภาพการพัฒนาเศรษฐกิจ  จังหวัดนราธิวาส การจัดทำแผนการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาสดำเนินการภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานและบุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้อง โดยมีจุดเริ่มต้นจากการประชุม "ระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส" โดยเชิญหน่วยงานทางการศึกษา สถานศึกษาในโครงการ หน่วยงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับการพัฒนาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจนราธิวาสของหน่วยงานทางการศึกษาในแต่ละระดับ  จังหวัดสระแก้ว สพป.สระแก้ว เขต 1 ในฐานะผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการในจังหวัด ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดประชุมสัมมนาหน่วยงานทางการศึกษาเพื่อจัดทำ "แนวทางการจัดการศึกษาจังหวัดสระแก้วรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว เพื่อให้หน่วยงานทางการศึกษาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางการจัดการศึกษารองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว (พ.ศ.2558-2560) โดยขอความร่วมมือหน่วยงานทางการศึกษา ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น และความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านการศึกษาที่สอดคล้องสนองตอบเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะแนวทางการจัดการศึกษาของจังหวัดรองรับเขตพัฒนาพิเศษสระแก้ว  จังหวัดกาญจนบุรี การประชุมขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี นอกจากนี้ยังมีการประชุมวิเคราะห์เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อวางแผนพัฒนาด้านการศึกษา ซึ่งประกอบด้วยผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานศึกษาระดับต่างๆ ในพื้นที่ จนมีการเสนอปรับ 3 รูปแบบ ได้แก่ (1)สร้างหน่วยการเรียนรู้เขตเศรษฐกิจพิเศษ แล้วนำไปบูรณาการในกลุ่มสาระวิชาที่เกี่ยวข้องและสามารถเพิ่มได้ (2)ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ 3.สร้างรายวิชาขึ้นใหม่เป็นวิชาเกี่ยวกับเศรษฐกิจพิเศษ การจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี ได้เน้นการจัดการศึกษาเพื่อเตรียมคนรองรับพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทุกระดับ และการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี 4 ปี (2562-2565)  จังหวัดตาก การประชุมขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมฯ มีที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 17 ศึกษาธิการจังหวัด สพม. สพป. ผู้บริหารสถานศึกษา ตลอดจนประธานกลุ่มโรงเรียน หน่วยงานทางการศึกษาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก หลักสูตรสำหรับเตรียมผลิตกำลังคนตามความคาดหวังของภาคเศรษฐกิจและสังคมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก (พ.ศ.2558-2562) โดยขอความร่วมมือหน่วยงานทางการศึกษาที่เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็นและความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านการศึกษาที่สอดคล้องสนองตอบเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาม พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาของจังหวัดตากเพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อย่างไรก็ตาม กระบวนการจัดทำแผนการศึกษาแบบบูรณาการในเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก ได้มีกระบวนการจัดทำร่วมกัน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เช่น สพม. สพป. อาชีวศึกษา การศึกษานอกโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย รวมทั้งสภาอุตสาหกรรม หอการค้า ฝ่ายความมั่นคง และตัวแทนภาคประชาชน โดยมีการจัดทำแผนการศึกษาแบบบูรณาการร่วมกันอย่างเป็นระบบ สามารถเชื่อมรอยต่อของแผนการจัดการศึกษาของแต่ละระดับได้อย่างดี โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การจัดการศึกษาแบบบูรณาการเพื่อรองรับการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในด้านต่างๆ  จังหวัดนครพนม ศธจ.นครพนม ในฐานะตัวแทนกระทรวงศึกษาธิการในจังหวัดตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดประชุมเพื่อจัดทำ "แนวทางการจัดการศึกษาจังหวัดนครพนมรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม" เพื่อให้หน่วยงานทางการศึกษาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม (พ.ศ.2560-2564) โดยได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นและความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านการศึกษาที่สอดคล้องสนองนอบเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะแนวทางการจัดการศึกษาของจังหวัดนครพนมรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยหน่วยงานทางการศึกษาได้จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน อาจกล่าวได้ว่า กระบวนการจัดทำแผนการศึกษาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดนครพนม ได้มีกระบวนการจัดทำร่วมกัน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เช่น สพม. สพป. อาชีวศึกษา การศึกษานอกโรงเรียน มหาวิทยาลัย สามารถทำให้หน่วยงานต่างๆ ได้มีทิศทางในการจัดทำแผนการศึกษาไปในทางเดียวกัน เกิดความเข้าใจในยุทธศาสตร์ หลักการและแนวคิดร่วมกัน รวมทั้งยังสามารถเชื่อมรอยต่อของแผนการจัดการศึกษาของแต่ละระดับได้อย่างดี นอกจากนี้การทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงานยังสามารถทำให้เกิดเครือข่ายและความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงานอีกด้วย 

เงื่อนไขความสำเร็จ
จังหวัดเชียงราย ควรพัฒนาเยาวชนไทยในการมีทักษะเข้าถึงภาษาจีนและทรัพยากรในประเทศจีน และควรมีเงื่อนไขการรับนักศึกษาจีน 
ข้อเสนอแนะ
จังหวัดเชียงราย (1)การบริหารจัดการศึกษา : ศึกษาธิการจังหวัด หรือหน่วยงานการศึกษากลางของจังหวัด ควรทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อระหว่างสถานศึกษาขั้นพื้นฐานกับหน่วยการศีกษาที่สูงกว่า (2)คุณภาพบริหาร : ควรมีการถ่ายทอดหรือถอดบทเรียนการบริหารของผู้บริหารที่โรงเรียนแก่พื้นที่อื่น หรือควรมีการนำหลักและวิธีการบางส่วนไปเป็นกลไกการบริหารการศึกษาในภาพรวม เช่น กลไกการเชื่อมต่อสถานศึกษากับภาคเศรษฐกิจในระบบกรรมการบริหาร (3)อุดมศึกษา : ฝ่ายอุดมศึกษาควรพัฒนาเยาวชนไทยในการมีทักษะเข้าถึงภาษาจีนและทรัพยากรในประเทศจีน และควรมีเงื่อนไขการรับนักศึกษาจีน ส่งเสริมให้มีการประยุกต์องค์ความรู้ด้านการจัดการศึกษาจากระดับมหาวิทยาลัยกลับคืนสู่สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  จังหวัดนราธิวาส (1)การบริหารการศึกษา : โครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาในเขตเศรษฐกิจพิเศษของกระทรวงศึกษาธิการมักขาดงบประมาณ ขาดความต่อเนื่อง และอาจขัดแย้งกับโครงการหรือนโยบายบางประการในสถานศึกษา (เน้นพัฒนาคุณภาพการศึกษากับอาชีพ บางครั้งไม่เป็นไปด้วยกัน) ทุกโครงการขาดความยั่งยืนและความต่อเนื่อง (2)ในการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาภายใต้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และนโยบายสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ มั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน กับมหาวิทยาลัยบูรพาและหาดใหญ่ มีเนื้อหาระดับมหาวิทยาลัย ไม่สอดคล้องกับผู้เรียนในระดับประถม/มัธยม จึงควรตระหนักในเรื่องของความเหมาะสมของเนื้อหาด้วย (3)การจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาสจะต้องส่งเสริมใน 3 ด้าน คือ ด้านความรู้ ได้แก่ องค์ความรู้เกี่ยวกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส องค์ความรู้เกี่ยวกับการประกอบอาชีพในพื้นที่ องค์ความรู้เกี่ยวกับการดำรงชีวิตในสังคมพหุวัฒนธรรม ด้านทักษะต่างๆ ได้แก่ ทักษะภาษา ประกอบด้วยภาษาอังกฤษ มลายู จีน อาหรับและพม่า ทักษะอาชีพ และทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และ ด้านคุณลักษณะ ซึ่งได้แก่ เรื่องวินัย ความขยัน ความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบ การทำงานเป็นทีม และจิตสาธารณะ (4) ส่งเสริมให้กลุ่มผู้เรียนที่จะเป็นวัยทำงานในอนาคตมี "วินัย" ในการทำงาน โดยควรเสริมสร้าง "วินัยอุตสาหกรรม" (5) ความไม่แน่นอนในระบบเศรษฐกิจอาจส่งผลให้การวางแผนการจัดการศึกษาไม่ชัดเน (6) หน่วยการศึกษาควรมีการกำหนด/ระบุอาชีพที่มีความต้องการในอนาคติให้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของหน่วยงานการศึกษาทั้งประเทศ  จังหวัดสระแก้ว (1)การบูรณาการหลักสูตรการบริหารธุรกิจกับความรู้ทางศึกษาศาสตร์ เพื่อช่วยครูในการออกแบบ จัดโครงสร้างเวลาเรียนและบูรณาการเนื้อหา ความรู้ให้สามารถสอดแทรกให้ได้ทุกรายวิชา เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระในการจัดการเรียนการสอน และผู้เรียนต้องเกิดทักษะ มีความคิดสร้างสรรค์ในการทำธุรกิจ (2)สถานศึกษาควรส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษามีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งด้านการดำรงชีวิต วิถีคิดและกฎหมาย (3)คุณลักษณะที่สำคัญที่สุดของแรงงานในพื้นที่สระแก้ว คือ มีทักษะทางภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษากัมพูชา และภาษาอังกฤษ โดยสามารถใช้ภาษากัมพูชาสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว เพื่อความก้าวหน้าในการค้าขายและทำธุรกิจแนวชายแดนกับประเทศกัมพูชา (4) ในปัจจุบันนี้แรงงานกัมพูชามีทักษะภาษาไทยครบถ้วนทั้ง 4 ทักษะ ฟัง พูด อ่าน เขียน แต่ในทางตรงกันข้ามแรงงานไทยไม่สามารถสื่อสารภาษากัมพูชาได้เลย ซ้ำยังรังเกียจที่จะเรียนรู้ทั้งๆ ที่เป็นโอกาสและอยู่ในบริบที่เรียนรู้ได้ตามธรรมชาติ ดังนั้นการเปลี่ยนทัศนคติของคนไทยในเรื่องภาษาเพื่อนบ้านว่าเป็น "ทักษะที่เพิ่มรายได้" อย่างจริงจัง (5)ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยการศึกษา และสถานประกอบการต่างๆ ในจังหวัดสระแก้ว  จังหวัดกาญจนบุรี (1)แผนการจัดการศึกษาที่จะนำไปใช้จริงควรดูบริบทพื้นที่เป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะพัฒนาผู้เรียนจริงไม่ได้ (2)ควรส่งเสริมความเข้าใจให้กับนักเรียน/นักศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษในกาญจนบุรี และพัฒนาทักษะภาษา ทั้งภาษาไทยและภาษาพม่า เพื่อประโยชน์ในการสื่อสารและพัฒนาสู่การเป็นล่ามในอนาคต และพัฒนาให้นักเรียนมีความเชี่ยวชาญทักษะอาชีพเป็นพื้นฐาน ซึ่งแท้จริงแล้วสำคัญกว่าด้านภาษาจึงควรพัฒนาทักษาะอาชีพก่อน (3)การพัฒนาการศึกษาในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษควรได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านการประสานงาน การทำงานร่วม และการจัดสรรงบประมาณ  จังหวัดตาก (1)ควรมีการจัดการศึกษาภาคบังคับให้ทั่วถึงทั้งจังหวัด โดยเฉพาะการจัดการศึกษาสำหรับเด็กบนที่สูงหรือเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ (2)ระดับเด็กโต ควรเพิ่มเติมความรู้การค้า ด้านเทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ให้มากขึ้น ลดด้านสังคมลง (3)ส่งเสริมการเรียนรู้แบบสร้างเสริมอาชีพให้สามารถเป็นเจ้าของกิจการได้เอง และควรมีการพัฒนาด้านเกษตรอุตสาหกรรมให้มากขึ้น (4)ส่งเสริมให้สถานประกอบการเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าไปฝึกงานในสถานประกอบการมากขึ้น (5)ภาครัฐและเอกชนต้องการความรู้ผ่านการศึกษาวิจัยเพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพของนักเรียน  จังหวัดนครพนม (1)หากทางหน่วยงานราชการอยากให้มีการผลิตบุคลากรเพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ ควรตั้งโรงเรียนเฉพาะขึ้นมา แล้วมีการจัดการเรียนการสอนด้านนี้โดยตรง เพื่อสามารถป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ หากนำมาใช้กับหลักสูตรสามัญ จะทำให้มีข้อจำกัดในด้านเกณฑ์การจบหลักสูตร (2)ควรมีการจัดอบรม พัฒนาบุคลากรครูผู้สอนก่อน เพื่อให้ครูมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเป็นเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษหรือควรมีการทำความเข้าใจร่วมกันในด้านเนื้อหา เช่น เรื่องโลจิสติกส์ เด็กควรจะได้เรียนส่วนไหน ประเด็นใดบ้าง (3)การวางแผนคุณภาพการศึกษากับเป้าหมายทางเศรษฐกิจยังสอดรับกันไม่ชัดเจน ระบบการศึกษาสามารถผลิตทรัพยากรบุคคลที่เข้าสู่ตลาดแรงงานได้ แต่ในมุมมองของผู้ประกอบการมองว่าคุณภาพของนักศึกษาที่จบการศึกษามาแล้วนั้นยังไม่สอดคล้องกับความต้องการ และในฝ่ายผู้ประกอบการก็ยังไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนถึงปริมาณและความต้องการในอนาคต เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและทิศทางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจนมากนัก (4) จบมาแล้วทำงานไม่ตรงสาย ทำให้แรงงานไหลออก สถานการณ์ปัจจุบันของนักศึกษาที่จบมาแล้วคือส่วนใหญ่เมื่อนักศึกษาเรียนจบแล้วก็จะทำงานไม่ตรงกับสายหรือสาขาที่เรียนมา อีกส่วนหนึ่งก็จะออกไปทำงานในกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ยังมีบางส่วนซึ่งถือเป็นกระแสที่นิยมทำธุรกิจเป็นของตัวเองโดยมีโอกาสเสี่ยงที่จะล้มเหลวสูง (5)ผู้ประกอบการต้องการให้ฝ่ายพัฒนาการศึกษาสามารถผลิตนักศึกษาให้มีคุณภาพมากขึ้น โดยเฉพาะด้านจริยธรรม วินัยการทำงาน และความอดทนในการทำงาน 
กลุ่มเป้าหมายที่นำไปใช้
     หน่วยงานที่จัดการศึกษาและเกี่ยวข้อง ทั้งสายสามัญ อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา
ระดับการศึกษา
     ทุกระดับการศึกษา
ระบบการศึกษา
     ทุกระบบการศึกษา
รองรับประเด็น
     ระบบการบริหารจัดการ
ประโยชน์ที่มีต่อผู้เรียน
     IQ (Intelligence Quotient) ความรู้ความสามารถ

สรุปผลการวิเคราะห์เชื่อมโยงงานวิจัยกับแผนสำคัญของประเทศ
ยุทธศาสตร์ชาติ 3 ประเด็น 4.2
แผนแม่บท 11 แผนย่อย 3.3 แนวทางการพัฒนา 4)
แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เรื่อง 1 ประเด็น 1.3  
แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 12 ย.1
แผนการศึกษาแห่งชาติ ย.3 แนวทางการพัฒนา 3.1

เอกสาร
       ดาวน์โหลดเอกสาร


เชื่อมโยงงานวิจัยกับแผนสำคัญของประเทศ
      ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
            2. การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต
      แผนย่อยของแผนแม่บท 11 การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต
            3.3 แผนย่อยการพัฒนาช่วงวัยเรียนและวัยรุ่น
      แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เรื่องและประเด็นการปฏิรูปที่ 1
            1.3 การขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาตนเองและการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อรองรับการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต
      แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)
            ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์
      แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579
            ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
      นโยบายหลักรัฐบาล (12 ด้าน)
            8. การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย
      นโยบายเร่งด่วนรัฐบาล (12 เรื่อง)
            7. การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21