ฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านการศึกษาที่เชื่อมโยงแผนสำคัญของประเทศ
การศึกษาสภาพและรูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มผู้มีความต้องการจำเป็นพิเศษที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย: กรณีผู้มีความสามารถพิเศษ (2562,สำนักงานเลขาธิการ สภาการศึกษา)

วัตถุประสงค์
1. เพื่อศึกษารวบรวมข้อมูล นิยาม/ความหมาย ประเภทของผู้มีความสามารถพิเศษ สภาพและรูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ ที่มีการจัดการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ  
2. เพื่อศึกษารูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ และกรณีศึกษารูปแบบการจัดการศึกษาที่ดีเพื่อพัฒนาเป็นรูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มผู้มีความสามารถพิเศษที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย

รูปแบบ/โมเดล
รูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษของประเทศไทย 
ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ดำเนินการโดยรัฐในระดับมัธยมศึกษา มี 4 รูปแบบ คือ 
(1) โรงเรียนเฉพาะทาง
(2) การเรียนร่วมในโรงเรียนปกติ ในสาขาวิชาต่างๆ ใช้รูปแบบการลดระยะเวลาเรียน เพิ่มพูนประสบการณ์ ขยายประสบการณ์ และการใช้ผู้เชี่ยวชาญพิเศษให้คำปรึกษาดูแล มีการจัดระบบเวลาเรียนสำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษในคาบเรียนปกติ 
(3) การจัดห้องเรียนพิเศษในโรงเรียน เช่น ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ
(4) การสอนเสริมและจัดกิจกรรม/โครงการพิเศษสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษในโรงเรียน/หน่วยงานต่างๆ เน้นการทำโครงการหรือกิจกรรมส่งเสริมความสามารถพิเศษในรูปแบบที่หลากหลาย มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ เช่น โครงการ พสวท. สควค. และโอลิมปิควิชาการ เป็นต้น

รูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษของประเทศไทย : กรณีตัวอย่างที่ดี (Best Practice)
กรณีที่ 1 ระดับประถมศึกษา (โรงเรียนผไทอุดมศึกษา)
1. บริบทโรงเรียน
1) ข้อมูลพื้นฐานสำคัญของโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการประกาศเป็นโรงเรียนต้นแบบด้านการศึกษาความสามารถพิเศษในระดับประถมศึกษาแห่งชาติ โดยโรงเรียนเป็นศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษในระดับประถมศึกษา 7 สาขาวิชา คือ คณิตศาสตร์ ทักษะการคิด ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ดนตรี ทัศนศิลป์ และแนะแนวและจิตวิทยา
2) ด้านการบริหารจัดการ มีโครงสร้างการบริหารเป็นแบบโรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่ (Schools in School) กล่าวคือ ภายใต้โรงเรียนผไทอุดมศึกษา ประกอบด้วย 5 โรงเรียนเล็ก คือ โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนสามัญ โรงเรียนมัธยมศึกษา โรงเรียนภาคภาษาอังกฤษ และโรงเรียนความสามารถพิเศษ ซึ่งแต่ละโรงเรียนจะมีอาจารย์ใหญ่และบุคลากรเป็นของตนเอง มีการกระจายอำนาจการบริหารและกำหนดหน้าที่อย่างชัดเจน ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายสามารถเสนอความเห็นในการเสนอและประเมินหลักสูตรได้ โดยโรงเรียนความสามารถพิเศษมีคณะที่ปรึกษาคอยให้คำปรึกษาครูใหญ่ รองลงมาเป็นรองอาจารย์ใหญ่ ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ 2 ตำแหน่ง และหัวหน้าสาขา 4 ตำแหน่ง คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
3) ด้านนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ มีแผนยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี และแผนยุทธศาสตร์เร่งด่วนระยะ 1 ปี และมีกระบวนการถ่ายทอดแผนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้ตรงกัน
4) ด้านงบประมาณ มีกระบวนการจัดสรรงบประมาณประจำปีไว้อย่างชัดเจน สามารถเบิกจ่ายได้อย่างคล่องตัว
5) ด้านฐานข้อมูล มีการพัฒนาฐานข้อมูล อาทิ ประวัติและตัวอย่างผลงานผู้เรียน/ ครู เครือข่ายการศึกษา แหล่งเรียนรู้ สื่อและนวัตกรรมการเรียนการสอน คลังข้อสอบ
6) ด้านการประกันคุณภาพ มีระบบติดตามการดำเนินงานผ่านการประชุมเป็นรายสัปดาห์ การพัฒนาเกณฑ์ประเมินคุณภาพของตนเอง 
2. การจัดการศึกษา
1) ครู/บุคลากร (1) การคัดเลือกครู ใช้ข้อสอบภาคความรู้ และการสัมภาษณ์ โดยเน้นครูที่ยืดหยุ่น เปิดใจรับรู้สิ่งใหม่ๆ (2) การพัฒนาครู จัดให้มีการอบรมความสามารถเฉพาะทางของแต่ละสาขา ภาคการศึกษาละ 2 ครั้ง คือ ด้านจิตวิทยา 1 ครั้ง และความรู้เฉพาะด้าน 1 ครั้ง (3) การวิจัย โรงเรียนกำหนดในแต่ละปีการศึกษาให้ครูทำวิจัย 3 รูปแบบ คือ วิจัยในชั้นเรียน วิจัยของสาขา และวิจัยของโรงเรียน
2) ที่ปรึกษา และนักจิตวิทยาการศึกษา มีที่ปรึกษาด้านการคัดสรรและเครื่องมือ ที่ปรึกษาเฉพาะสาขาภายนอกมาสัปดาห์ละ 2 วัน และยังมีที่ปรึกษาเฉพาะตามโครงการอีกด้วย สำหรับนักจิตวิทยา มี 2 คนคือ ด้านจิตวิทยาแนะแนวและด้านจิตวิทยาการศึกษา อย่างละ 1 คนประจำโรงเรียน
3) สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ (1) สิ่งแวดล้อมโดยทั่วไป เน้นสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นทางปัญญาที่หลากหลาย (2) ศูนย์วิทยาพัฒนา หรือ Exploring Center เป็นศูนย์ที่ออกแบบตามทฤษฎีสมองและการเรียนรู้ ทฤษฎีทางจิตวิทยา และทฤษฎีการพัฒนาบุคลิกภาพ และถือเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือคัดสรรเด็กที่มีความสามารถพิเศษ (3) ศูนย์อัฉริยภาพ เป็นศูนย์ที่ใช้ในกระบวนการเรียนรู้ของ Highly Gifted ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ และยังเป็นศูนย์ปฏิบัติการวิจัยสำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษ (4) สวนสร้างปัญญาท้าความคิด (Exploring Garden) เพื่อเป็นพื้นที่พัฒนาทักษะความคิดผ่านกลยุทธ์และทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ ภาษา และวิทยาศาสตร์ และศูนย์อื่นๆ ที่มีสภาพแวดล้อมเป็นเอกลักษณ์ของศูนย์ในโรงเรียนอีก 15 แห่ง
3. การคัดสรรผู้มีความสามารถพิเศษ 
1) ใช้เครื่องมือหลัก คือ นวัตกรรมศูนย์วิทยาพัฒนา ซึ่งมี 11 มุมการเรียนรู้ตามหลักการของสมองกับการเรียนรู้ โดยเครื่องมือวัดแววอัจฉริยะเฉพาะสาขาเป็นของโรงเรียน แบ่งเป็น 3 ช่วงอายุ คือ 3-6 ปี 6-8 ปี และ 8-11 ปี ผนวกกับการใช้เครื่องมือสากล คือ แบบทดสอบทางเชาวน์ปัญญา แบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์ TCT-DP และแบบทดสอบทางจิตวิทยา
2) กระบวนการคัดสรร แบ่งเป็น 2 ระบบคือ (1) ระบบวัดแวว โดยโรงเรียนมี 2 ระบบ คือ ระบบวัดแววภายใน ใช้เวลา 1 ปีการศึกษา และระบบวัดแววภายนอก เป็นรูปแบบค่ายใช้เวลา 5 วัน และ (2) ระบบคัดสรรภายใน แบ่งเป็น 3 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 เครื่องมือหลัก ได้แก่ การสังเกตและบันทึกพฤติกรรมจากศูนย์วิทยพัฒนา (Exploring Center) ประกอบด้วย ผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ และแบบสอบถามผู้ปกครอง ขั้นที่ 2 เครื่องมือหลัก ได้แก่ แบบทดสอบเชาวน์ปัญญา แบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์ TCT-DP แบบทดสอบทางจิตวิทยา และแบบสัมภาษณ์ผู้ปกครอง/ ครู ซึ่งเครื่องมือนี้เฉพาะด้านตามอายุ ซึ่งหากเด็กผ่านขั้นนี้จะสามารถเลือกเข้าเรียนความสามารถพิเศษตามความสมัครใจ โดยขั้นที่ 1 และ 2 ใช้เวลา 1 ปีการศึกษา และขั้นที่ 3 เป็นการคัดเลือก Highly Gifted เครื่องมือหลักคือ แบบบันทึกพฤติกรรมการเรียนรู้ 2 สัปดาห์โดยครูเป็นผู้บันทึก จากนั้นจะจัดเด็กเป็นกลุ่มย่อยทดลองเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ระยะเวลาไม่แน่นอนขึ้นกับเด็กแต่ละคน โดยผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้ตัดสินการจัดเป็น Highly Gifted ซึ่งเมื่อเข้ากลุ่มแล้วจะต้องเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญสัปดาห์ละ 2 คาบเรียน
4. หลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ และนวัตกรรม
1) รูปแบบการจัดการศึกษา ในการจัดชั้นเรียนจะแยกตามซีกสมองซ้าย/ขวา คละระดับความสามารถ ผนวกกับการจัดการศึกษาในรูปแบบอื่น
2) หลักสูตรสถานศึกษา ของโรงเรียนผไทอุดมศึกษามี 4 ด้าน คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ โดยแบ่งหลักสูตรออกเป็น 4 หลักสูตรย่อย คือ หลักสูตรย่นย่อ (Acceleration) หลักสูตรเพิ่มพูนประสบการณ์ (Enrichment)   หลักสูตรขยายประสบการณ์ (Extension) และหลักสูตรการเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญ (Mentoring) โดยมีสัดส่วนดังนี้ A: E: E: M เท่ากับ 75: 10: 10: 5 ทั้งนี้ สามารถปรับได้ตามความสามารถของเด็ก
3) สื่อ กระบวนการเรียนรู้และนวัตกรรม โรงเรียนมีโครงการพัฒนาแผนการสอน สื่อ และนวัตกรรมในช่วงทุกปิดภาคเรียนภายใต้การให้คำแนะนำของที่ปรึกษา เพื่อให้การพัฒนาตรงกับนักเรียนมากที่สุด
4) การประเมินผลการเรียนรู้ แบ่งเป็น 2 มิติ (1) ตามหลักสูตรแกนกลางของชาติ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือ ด้านการเรียนรู้ตามรายวิชาพื้นฐาน วิชาเพิ่มเติม และกิจกรรม ด้านการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน ด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน และด้านกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และ (2) ตามการศึกษาความสามารถพิเศษ  ซึ่งประเมินในส่วนที่เรียนรู้ตามหลักสูตรเพิ่มพูน ประสบการณ์ขยายประสบการณ์ และเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญ

กรณีที่ 2 ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา (โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย)
1. บริบทโรงเรียน
1) ข้อมูลพื้นฐานโรงเรียนเป็นโรงเรียนที่ก่อตั้งในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดการศึกษาบนพื้นฐานของคริสต์ศาสนา มุ่งพัฒนาให้เป็นโรงเรียนเอกชนชั้นนำที่ดีที่สุดของประเทศไทย โดยในปี พ.ศ.2561-2563 กำหนดวิสัยทัศน์ว่า กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยโรงเรียนแห่งความสุข ซึ่งโรงเรียนได้เปิดสอนนักเรียนชายล้วน ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา แบ่งเป็น 2 หลักสูตร (1) Intensive English Program (IEP) การเรียนการสอนเป็นภาษาไทยปกติ แต่เน้นวิชาภาษาอังกฤษให้เข้มข้น (2) English Immersion Program (EIP)  การเรียนการสอนทุกวิชาเป็นภาษาอังกฤษและเรียนกับครูต่างชาติทั้งหมด ยกเว้นภาษาไทยและหน้าที่พลเมืองที่เรียนกับครูไทย
2) หลักสูตรที่โรงเรียนจัดสำหรับผู้เรียน (1) หลักสูตรกระบวนการเรียนรู้และนวัตกรรม เน้นการพัฒนาด้านวิชาการควบคู่ทักษะชีวิตผ่านกิจกรรม และสร้างผู้นำแห่งอนาคต มีจิตสำนึกที่ดีงาม (2) หลักสูตรสามัญประถมศึกษา เน้นพัฒนาทักษะพื้นฐานในศตวรรษที่ 21 คือ การอ่าน การเขียน การคิดคำนวณ การคิด การติดต่อสื่อสาร กระบวนการเรียนรู้ทางสังคม โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการเรียนรู้ (3) หลักสูตรสามัญมัธยมศึกษา เน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ด้านวิชาการ พัฒนาทักษะการเรียนรู้ และทักษะพื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียน และแนวโน้มโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว (4) หลักสูตรสามัญและโครงการพัฒนาศักยภาพทางภาษาอังกฤษ เน้นให้ผู้เรียนใช้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้และสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
3) โครงการ/กิจกรรมต่างๆ สำหรับผู้เรียน (1) โครงการโอลิมปิควิชาการและการแข่งขันทางวิชาการระดับนานาชาติ ซึ่งผู้เรียนของโรงรียนได้เป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันโอลิมปิควิชาการระดับนานาชาติเป็นเวลา 10 ปีต่อเนื่อง ในสาขาวิชาคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เคมี ชีววิทยา และดาราศาสตร์ (2) โครงงานวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติ เน้นการพัฒนากระบวนการคิด การแก้ปัญหา และเพิ่มศักยภาพผู้เรียน โดยมีครูผู้เชี่ยวชาญและเปิดโอกาสให้ผู้เรียนที่สนใจเข้าโครงการ (3) โครงการ Per-University Program จุดเน้นคือการวางแผนและพัฒนาผู้เรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายให้พร้อมสำหรับการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา โดยต้องมีทักษะและความรู้ที่จำเป็นในการศึกษาต่อ 12 สาขาวิชา ได้แก่ แพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาบัตยกรรมศาสตร์ วิศวกรรมอวกาศ พาณิชยศาสตร์-บริหารธุรกิจ สังคมศาสตร์ (รัฐศาสตร์และนิติศาสตร์) อักษรศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ นิเทศศาสตร์ (ภาพยนตร์และสื่อมัลติมีเดีย) ศิลปะการประกอบอาหาร วิทยาศาสตร์การกีฬา และดนตรีนิเทศศิลป์ (4) กิจกรรมการเรียนการสอนแบบพหุปัญญา สำหรับ ป.4-ป.6 ด้วยการคัดกรองผู้เรียนผ่านแบบวัดความถนัด และใช้เป็นข้อมูลในการเลือกกิจกรรมตามที่ตนเองถนัด (5) กิจกรรมโครงงานบูรณาการ สำหรับ ป.6 เน้นการนำความรู้จาก 8 กลุ่มสาระวิชามาบูรณาการต่อยอดความรู้ และสร้างเป็นโครงงานประจำห้องเรียนตนเอง เพื่อนำเสนอในช่วงปลายปีภาคการศึกษา (6) BCC Smart Education Program เน้นการจัดการเรียนรู้ในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และคอมพิวเตอร์เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนมีทักษะ ความรู้ ความสามารถ และทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21
2. นโยบายและการดำเนินงานสำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษ
1) โรงเรียนจะมีกระบวนการคัดเลือกเด็กที่มีความสามารถพิเศษด้วยการสอบ เมื่อผ่านแล้วจะเข้าสู่การจัดหลักสูตรเพื่อพัฒนาเด็กตามความสามารถที่ปรากฎ ซึ่งโรงเรียนจะจัดสรรทุน (Top Twenty) สำหรับผู้เรียนที่รักษามาตรฐานความสามารถของตนเองใน 8 กลุ่มสาระวิชา ผลการเรียนเป็นไปตามมาตรฐานของโรงเรียน โดยจัดสรรไม่เกิน 20 คนต่อชั้นเรียนให้เป็นทุนต่อเนื่อง 3 ปี ไม่ว่าจะเป็นความสามารถด้านวิชาการ ศิลปะ กีฬา หรือดนตรี
2) กิจกรรมส่งเสริม ได้แก่ ห้องแล๊ปวิทยาศาสตร์ ห้องเรียน/ห้องพักสำหรับผู้เรียนที่ได้รับทุนนักกีฬา กิจกรรมเสริมด้านสิ่งประดิษฐ์ อาทิ เลโก้ หุ่นยนต์ โดรน เป็นต้น

กรณีที่ 3 การจัดการศึกษาโดยครอบครัว (บ้านเรียนธีทีป์รินดา)
1. บริบททั่วไป
คุณพ่อเป็นนักธุรกิจด้าน Marketing Trainer และอาจารย์สอนศาสนา คุณแม่ช่วยธุรกิจครอบครัว และเคยเป็นอาจารย์สอนภาษาไทยให้แก่เด็ก Home School ชาวอเมริกา การจัดการศึกษาของครอบครัวเป็นลักษณะครอบครัวเดี่ยว โดยจัดให้แก่ลูก 3 คน บุตรชายประถมศึกษาปีที่ 6 บุตรชายประถมศึกษาปีที่ 4 และบุตรสาวอนุบาล 3 เหตุผลที่เลือก Home School คือ (1) ได้เคยเห็นพัฒนาการที่ดีของเด็ก Home School ของเด็กชาวอเมริกาที่เคยสอน (2) เน้นสนับสนุนผู้เรียนให้เรียนรู้อย่างเหมาะสม เป็นธรรมชาติต่อการพัฒนาด้านร่างกาย จิตใจและจิตวิญญาณ (3) เน้นทักษะ ความถนัด ความชอบเฉพาะทาง หรือสิ่งที่ผู้เรียนสนใจโดยไม่มีกรอบเรื่องเวลา (4) สร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในครอบครัว ด้วยคุณพ่อมีเวลาไม่สัมพันธ์กับลูกๆ หากเข้าระบบโรงเรียน และอยากให้ลูกๆ เห็นคุณพ่อเป็นแบบอย่างที่ดีในความเป็นชายที่สมบูรณ์ และด้านความเป็นผู้นำ (5) ต้องการจัดการศึกษาแบบครอบครัวในเชิงบูรณาการ เปิดกว้างทางความคิด และความสามารถของผู้เรียน ซึ่งโรงเรียนส่วนใหญ่มักจะเร่งเรียน หรือไม่มีแรงจูงใจท้าท้ายให้ผู้เรียนได้พัฒนาศักยภาพได้ถึงขีดสุด (6) สถานภาพทางการเงิน คือ โรงเรียนดีใกล้บ้านค่าใช้จ่ายจะค่อนข้างสูง ซึ่งหากทางครอบครัวปรับเปลี่ยนวิถีการทำงาน จัดตารางประจำวันของครอบครัวก็จะมีประหยัดและมีเวลาในการจัดการเรียนการสอนให้แก่ลูกๆ ได้ (7) สภาพการจราจรที่ติดขัด ทำให้สูญเวลาโดยเปล่าประโยชน์บนท้องถนน (8) ลดความเสี่ยงด้านสุขภาพที่จะได้รับเชื้อโรคต่างๆ รวมถึงได้ดูแลสุขอนามัยของลูกๆ 
2. ความสามารถ/ ความถนัดโดดเด่น 
1) การค้นพบความสามารถพิเศษของลูกๆ มาจากการที่ผู้ปกครองเปิดโอกาสให้เด็กได้ทำกิจกรรม ให้เวลากับสิ่งที่เด็กชอบและถนัด จนเห็นว่าโดดเด่น เด็กชอบที่จะทำเอง สุขที่ได้ทำเรียนรู้ด้วยตนเอง
2) บุตรชาย ป.6 มีความสามารถพิเศษด้านเปียโน แต่งเพลง จัดรายการวิทยุ ตัดต่อวีดิโอ และพิธีกร บุตรชาย ป.4 มีความสามารถพิเศษในการร้องเพลงและศิลปะประดิษฐ์ และบุตรสาว อ.3 มีความสามารถพิเศษในการเต้นบัลเล่ต์
3. รูปแบบการจัดการศึกษา
รูปแบบการจัดการศึกษาที่ใช้คือ  (1) สอนเอง ในวิชาสามัญ ได้แก่ คณิต วิทย์ ภาษาไทย สังคม สุขศึกษา และภาษาอังกฤษ (2) เรียนรู้จากผู้รู้มาต่อยอดให้โดดเด่นขึ้นในวิชาที่เด็กมีความถนัดหรือมีความสามารถพิเศษ เช่น ดนตรี ร้องเพลง ศิลปะ บัลเล่ต์ ภาษาจีน รวมถึงเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เช่น การทำเซรามิค ศิลปะประดิษฐ์ การเข้าค่ายการตัดต่อวิดีโอ/ นักข่าว (3) เรียนรู้ด้วยตนเอง เช่น Youtube หนังสือ เป็นต้น และ (4) การจัดการเรียนรู้  โดยส่วนใหญ่การจัดการเรียนรู้จะไม่ยึดติดกับกรอบระยะเวลา  แต่จะยึดตามความถนัดของผู้เรียน สำหรับการวัดและประเมินผลผู้เรียน จะใช้วิธีการที่หลากหลาย โดยครอบครัวและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 

ปัจจัยความสำเร็จ
1. คัดสรรผู้บริหารสถานศึกษาที่มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถจัดการศึกษาให้แก่ผู้มีความสามารถพิเศษ
2. พัฒนาเครื่องมือที่หลากหลายได้มาตรฐาน รวมถึงรูปแบบกระบวนการในการเสาะหาคัดเลือกผู้มีความสามารถพิเศษ
3. ครูผู้สอนที่มีความรู้ความเข้าใจ และความสามารถในการสอนผู้ที่มีความสามารถพิเศษได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม          (ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีสถาบันอุดมศึกษาใดที่เปิดสอนสาขาการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษในระดับปริญญา)
4. หลักสูตร หน่วยการเรียน โครงสร้างเวลาเรียน การจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผลที่เน้นสมรรถนะของผู้เรียนอย่างรอบด้านตามพหุปัญญา
5. เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจในนิยาม ความหมาย วิธีการเสาะหาคัดเลือก และการพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษให้แก่กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง กลุ่มบุคลากรที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ


เงื่อนไขความสำเร็จ
1. การจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษควรให้ความสำคัญในด้านอื่นนอกเหนือจากสาขาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และควรเป็นไปอย่างมีระบบ รวมถึง การให้ความสำคัญกับสถานศึกษาขนาดกลาง/ขนาดเล็ก กลุ่มครอบครัวในอันที่จะสามารถจัดการศึกษาให้แก่ผู้มีความสามารถพิเศษด้วย
2. สร้างความรู้ ความเข้าใจในความหมาย และแนวทางการจัดการศึกษาที่ถูกต้องเหมาะสมของผู้มีความสามารถพิเศษให้แก่ประชาชน และสถานศึกษา
3. พัฒนาองค์ความรู้ และทดลองนำร่องเนื้อหาสาระเกี่ยวกับผู้มีความสามารถพิเศษอย่างต่อเนื่อง
4. ปรับปรุงกฎหมาย กฎกระทรวง หลักเกณฑ์ แนวปฏิบัติต่างๆ ให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้จริง ในประเด็น (1) การจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรทางการศึกษาอื่นเป็นพิเศษให้เหมาะสม สอดคล้องสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ (ม.60(3) ของ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่3) (2) หลักสูตรการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษต้องมีลักษณะหลากหลาย เหมาะสมในแต่ละระดับ (ม.28)


ข้อเสนอแนะ
1. รัฐบาลควรจัดให้มีองค์กรทำหน้าที่ในการวางระบบ กลไกการประสาน ส่งเสริม สนับสนุน ส่งต่อ ดูแลผู้มีความสามารถพิเศษเพื่อให้ได้รับการพัฒนาจนสู่ความเป็นเลิศที่เชื่อมโยงถึงการพัฒนาประเทศ
2. การจัดทำแผนความต้องการกำลังคนของประเทศที่เชื่อมโยงกับการเสาะหา และพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษในด้านต่างๆ รวมถึงการจัดทำแผนการด้านอาชีพเป็นรายบุคคลให้ชัดเจน

กลุ่มเป้าหมายที่นำไปใช้
     ผู้บริหารสถานศึกษา/ผู้มีสิทธิจัดการศึกษา
ระดับการศึกษา
     ประถมศึกษา+มัธยมศึกษาตอนต้น+มัธยมศึกษาตอนปลาย
ระบบการศึกษา
     การศึกษาในระบบ
รองรับประเด็น
     ระบบการจัดการเรียนรู้
ประโยชน์ที่มีต่อผู้เรียน
     IQ (Intelligence Quotient) ความรู้ความสามารถ

สรุปผลการวิเคราะห์เชื่อมโยงงานวิจัยกับแผนสำคัญของประเทศ
ยุทธศาสตร์ชาติ 3 ประเด็น 4.4
แผนแม่บท 12 แผนย่อย 3.2 แนวทางการพัฒนา 1)
แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เรื่อง 3 ประเด็น 3.2  
แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 12 ย.1
แผนการศึกษาแห่งชาติ ย.2 แนวทางการพัฒนา 3.2

เอกสาร
       ดาวน์โหลดเอกสาร


เชื่อมโยงงานวิจัยกับแผนสำคัญของประเทศ
      ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
            4. การตระหนักถึงพหุปัญญาของมนุษย์ที่หลากหลาย
      แผนย่อยของแผนแม่บท 12 การพัฒนาการเรียนรู้
            แผนย่อยการตระหนักถึงพหุปัญญาของมนุษย์ที่หลากหลาย
      แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เรื่องและประเด็นการปฏิรูปที่ 3
            3.2 การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลพิการ บุคคลที่มีความสามารถพิเศษ และบุคคลที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ
      แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)
            ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์
      แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579
            ยุทธศาสตร์ที่ 2 การผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
      นโยบายหลักรัฐบาล (12 ด้าน)
            8. การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย
      นโยบายเร่งด่วนรัฐบาล (12 เรื่อง)
            7. การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21