ฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านการศึกษาที่เชื่อมโยงแผนสำคัญของประเทศ
การวิจัยและพัฒนารูปแบบการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (2560,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ)

วัตถุประสงค์
1. เพื่อพัฒนาและประเมินความเหมาะสมของรูปแบบการพัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะ
2. เพื่อประเมินผลการนำรูปแบบการพัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะไปสู่การปฏิบัติ

รูปแบบ/โมเดล
รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะที่พัฒนาขึ้นนี้ได้จากการประยุกต์แนวคิดรูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของ UNESCO Model ประกอบด้วย 2 วงจรคือ  1) วงจรที่ 1 วงจรการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ (1) ขั้นการประเมินความต้องการจำเป็น (2) ขั้นการออกแบบหลักสูตรฐานสมรรถนะ (3) ขั้นการทดลองและปรับปรุงหลักสูตรฐานสมรรถนะ และ (4) ขั้นการประเมินผลหลักสูตรฐานสมรรถนะ  2) วงจรที่ 2 วงจรการจัดทำแผนการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรรายวิชาฐานสมรรถนะ ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ (5) ขั้นการออกแบบและจัดทำแผนการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรรายวิชาฐานสมรรถนะ (6) ขั้นการนิเทศและการทดลองใช้แผนการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรรายวิชาฐานสมรรถนะ (7) ขั้นการนำแผนการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรรายวิชาฐานสมรรถนะไปใช้จริง และ (8) ขั้นการประเมินผลแผนการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรรายวิชาฐานสมรรถนะ 
ข้อเสนอแนะ
1. กรอบคุณวุฒิแห่งชาติต้องเป็นแม่แบบและแกนกลางในการพัฒนากรอบคุณวุฒิต่างๆ ของประเทศ สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สอดคล้องและสามารถเชื่อมโยงระหว่างกรอบคุณวุฒิในแต่ละระดับและประเภทหรือมาตรฐานระดับชาติต่างๆ ได้ และทำให้กรอบคุณวุฒิต่างๆ ของประเทศที่จัดทำขึ้นที่เทียบเคียงและเชื่อมโยงกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสามารถไปเทียบเคียงกับกรอบคุณวุฒิในระดับนานาชาติหรือกรอบคุณวุฒิอาเซียนได้  2. กรอบคุณวุฒิต่างๆ ของประเทศที่จัดทำขึ้นแล้ว โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดทำ ควรจัดทำตารางเทียบเคียงการเชื่อมโยงกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เพื่อแสดงรายละเอียดของการเทียบเคียงและความเชื่อมโยง เพื่อที่กรอบคุณวุฒิอื่นๆ สามารถสอบทานได้ว่ากรอบคุณวุฒิอื่นๆ ที่เทียบเคียงกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติในระดับเดียวกัน มีปริมาณรายละเอียดที่เทียบเคียงเท่าเทียมกันหรือไม่ และถูกต้องเพียงใด  3. หน่วยงานที่รับผิดชอบการรับรองสมรรถนะบุคคลและออกใบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงาน ควรจัดให้มีการรับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพที่กำหนดไว้ในกรอบคุณวุฒิวิชาชีพและมีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อเป็นการทดสอบและประเมินความสามารถเบื้องต้นก่อนเข้าปฏิบัติงานจริงและเป็นดัชนีกำหนดการจ่ายค่าตอบแทนตามความสามารถที่แท้จริง  4. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นองค์กรหลักในกระทรวงศึกษาธิการ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และรวมถึงสภา/สมาคมวิชาชีพต่างๆ ควรสร้างความชัดเจนในการจัดการศึกษา หรือฝึกอบรมที่สามารถตอบสนองความต้องการของประเทศและนานาชาติ ด้วยการสนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนหรือการฝึกอบรมฐานสมรรถนะ โดยเน้นกระบวนการวิเคราะห์ความต้องการด้านสมรรถนะของผู้ที่จะเป็นแรงงานของสถานประกอบการในโรงงานอุตสาหกรรม วิเคราะห์สมรรถนะ จากกรอบมาตรฐานคุณวุฒิต่างๆ เช่น กรอบคุณวุฒิแห่งชาติของไทยและต่างประเทศ กรอบคุณวุฒิอาชีวศึกษาแห่งชาติ กรอบคุณวุฒิวิชาชีพแห่งชาติของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน และระบบสมรรถนะอื่นๆ ที่จัดทำโดยสภา/สมาคมวิชาชีพ ซึ่งสภาวิชาชีพต่างๆ จะจัดทำระบบสมรรถนะของตนเอง ตามข้อกำหนดภายใต้พระราชบัญญัติ เพื่อให้คณะกรรมการวิชาชีพพิจารณาใบอนุญาต หรือขึ้นทะเบียนกับสภาวิชาชีพ โดยนำผลการศึกษาและวิเคราะห์สมรรถนะทั้งหมดมากำหนดองค์ประกอบของหลักสูตรทั้งด้านความรู้ ทักษะและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบกระบวนการเรียนการสอน โดยเริ่มที่การพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะแล้วดำเนินการจัดทำแผนการเรียนการสอนหลักสูตรรายวิชาฐานสมรรถนะ ตลอดจนทรัพยากร ที่จะนำมาใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม พร้อมทั้งสามารถติดตาม ประเมินผลความสำเร็จที่สะท้อน ให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นเชิงศักยภาพของผู้สำเร็จการศึกษา และแรงงานในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างเป็นระบบ  5. หน่วยงานที่เป็นองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการที่ทำหน้าที่จัดการศึกษาในระดับต่างๆ ควรจัดตั้งองค์กรสนับสนุนในการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะและการจัดทำแผนการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรรายวิชาฐานสมรรถนะ เพื่อวิจัยและพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะและหารูปแบบการจัดทำแผนการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรรายวิชาฐานสมรรถนะที่มีประสิทธิภาพ และองค์กรที่ทำหน้าที่สนับสนุนนี้ ควรดำเนินการจัดฝึกอบรมให้กับครูผู้สอนโดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านการทำแผนการจัดการเรียน การสอนหลักสูตรรายวิชาฐานสมรรถนะ เพื่อพัฒนาศักยภาพของครูผู้สอนที่มีแนวโน้มในการสอนที่ดี ให้เป็นครูต้นแบบในทุกสาขาวิชา เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาอย่างยั่งยืน ดำเนินงานด้านการกำกับ ติดตามและประเมินผล ทำหน้าที่อย่างต่อเนื่องตลอดเวลาเพื่อให้ได้ข้อมูลไปปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ต้องการสมรรถนะใหม่ในการปฏิบัติงาน  6. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาควรร่วมมือกับหน่วยงานที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะตามกรอบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานฝีมือแรงงาน จัดการทดสอบผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรที่ได้พัฒนาตามกรอบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานฝีมือแรงงานร่วมกัน เพื่อรับรองสมรรถนะตามกรอบคุณวุฒิ หรือออกใบรับรองฝีมือแรงงาน ซึ่งกำหนดเป็นกฎหมายบังคับผู้ที่จะเข้าปฏิบัติงาน  7. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาควรแสวงหาความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและสถานประกอบการที่มีศักยภาพ ในการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะและจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะร่วมกันในรูปแบบทวิภาคี ซึ่งเป็นความสำคัญของการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริงที่โรงเรียนไม่สามารถจัดให้ได้ เน้นการฝึกปฏิบัติให้เกิดสมรรถนะจากสภาพจริง  8. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติ ควรมีความร่วมมือในการทำวิจัย เพื่อนำผลวิจัยมาปรับปรุง ทบทวน พัฒนารูปแบบวิธีการทำงานและพัฒนางานให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
กลุ่มเป้าหมายที่นำไปใช้
     องค์กรหลักในกระทรวงศึกษาธิการ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ สภา/สมาคมวิชาชีพต่างๆ และสถานศึกษา
ระดับการศึกษา
     ปวช.+ปวส. / อนุปริญญา
ระบบการศึกษา
     การศึกษาในระบบ
รองรับประเด็น
     ระบบการจัดการเรียนรู้
ประโยชน์ที่มีต่อผู้เรียน
     IQ (Intelligence Quotient) ความรู้ความสามารถ

สรุปผลการวิเคราะห์เชื่อมโยงงานวิจัยกับแผนสำคัญของประเทศ
ยุทธศาสตร์ชาติ 2 ประเด็น 4.2
แผนแม่บท 11 แผนย่อย 3.3 แนวทางการพัฒนา 4) และ     
แผนแม่บท 4  แผนย่อย 3.6 แนวทางการพัฒนา 3)        
แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เรื่อง 5 ประเด็น 5.1 
แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 12 ย.1
แผนการศึกษาแห่งชาติ ย.2 แนวทางการพัฒนา 2.1

เอกสาร
       ดาวน์โหลดเอกสาร


เชื่อมโยงงานวิจัยกับแผนสำคัญของประเทศ
      ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
            2. อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต
      แผนย่อยของเเผนแม่บท 4 อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต
            3.6 แผนย่อยการพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต
      แผนย่อยของแผนแม่บท 11 การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต
            3.3 แผนย่อยการพัฒนาช่วงวัยเรียนและวัยรุ่น
      แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เรื่องและประเด็นการปฏิรูปที่ 5
            5.1 การปรับหลักสูตร พร้อมกระบวนการจัดการเรียนการสอน และการประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ
      แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)
            ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์
      แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579
            ยุทธศาสตร์ที่ 2 การผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
      นโยบายหลักรัฐบาล (12 ด้าน)
            8. การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย
      นโยบายเร่งด่วนรัฐบาล (12 เรื่อง)
            7. การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21