ฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านการศึกษาที่เชื่อมโยงแผนสำคัญของประเทศ
ผลการสังเคราะห์ ผลการวิจัยและพัฒนารูปแบบ กลไกการเสริมสร้างวินัยในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2561,มหาวิทยาลัยนครพนม)

วัตถุประสงค์
1) เพื่อศึกษาสภาพและปัจจัยในการเสริมสร้างวินัยในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในบริบทของประเทศไทย  2) เพื่อศึกษารูปแบบและกลไกการเสริมสร้างวินัยในสถานศึกษาของต่างประเทศ ได้แก่ เยอรมนี ญี่ปุ่นเกาหลีใต้ และเวียดนาม พร้อมข้อเสนอแนะการปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของไทย  3) เพื่อศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์ ผลการพัฒนารูปแบบ กลไกการเสริมสร้างวินัยในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานใน 4 ด้านคือ 1) ความรับผิดชอบและการตรงต่อเวลา 2) ความซื่อสัตย์สุจริต 3) การปฏิบัติตามระเบียบ กฎเกณฑ์ รู้จักกาลเทศะและเคารพสิทธิผู้อื่น และ 4) การมีจิตอาสา เสียสละเห็นอกเห็นใจผู้อื่น  4) เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการเสริมสร้างวินัยในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย
รูปแบบ/โมเดล
รูปแบบและกลไกการเสริมสร้างวินัยในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย 1) การสร้างทีมขับเคลื่อนการพัฒนาวินัยนักเรียน ประกอบด้วย 1.1) ผู้บริหารสถานศึกษา 1.2) ครูที่เกี่ยวข้อง รับผิดชอบการกำกับดูแลการจัดการเรียนการสอนในทุกระดับช่วงชั้น การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และกำกับดูแลกิจการนักเรียน 1.3) ผู้แทนผู้ปกครองนักเรียน ที่มีความเข้าใจและสามารถเสียสละเวลามาร่วมกิจกรรมของโรงเรียนได้ 1.4) ผู้แทนชุมชน และ/หรือ ผู้นำทางความคิดของคนในชุมชน 1.5) ผู้แทนคณะกรรมการสถานศึกษา 1.6) ศึกษานิเทศก์ 1.7) ผู้ทรงคุณวุฒิ/ครูอาวุโส หมายถึง ครูที่เกษียณอายุราชการ แต่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาวินัยนักเรียนเป็นอย่างดี 1.8) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาชีพครู หมายถึง คณาจารย์จากคณะครุศาสตร/ศึกษาศาสตร์ ที่มีความรู้และประสบการณ์การพัฒนาวินัยนักเรียน  2) การกำหนดเป้าหมายการพัฒนาวินัยนักเรียน กระบวนการดังนี้ 2.1) การวิเคราะห์สถานการณ์การพัฒนาวินัยนักเรียนของสถานศึกษา ด้วยกระบวนการ SWOT analysis 2.2) การสร้างทางเลือกเป้าหมายวินัยนักเรียน ที่สอดคล้องกับโอกาสความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการให้สำเร็จ โดยคำนึงถึงความต้องการของชุมชนและผู้ปกครอง ปัญหาด้านวินัยของนักเรียน และนโยบายการพัฒนาวินัยนักเรียนที่เป็นภาพรวมของประเทศ ซึ่งการสร้างทางเลือกเป้าหมายของการพัฒนาวินัยนักเรียน ควรมีเป้าหมายที่หลากหลาย มีเหตุผล ความสำคัญและความจำเป็นที่แตกต่างกันไปในแต่ละเงื่อนไข มีความท้าทายต่อการพัฒนาไปสู่เป้าหมาย มีโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาได้สำเร็จในระยะเวลา 3-5 ปี 2.3) การตัดสินใจเลือกเป้าหมายการพัฒนาวินัยนักเรียน โดยการสร้างโอกาสในประชาคมของผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้มีส่วนร่วมต่อการตัดสินใจเลือกเป้าหมายการพัฒนาวินัย โดยการประชุมชี้แจง อธิบาย และสร้างการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกเป้าหมายการพัฒนาวินัยนักเรียน ด้วยการให้มีการอภิปราย สร้างการเรียนรู้ร่วมกันด้วยเหตุและผล และด้วยหลักการประชาธิปไตย ภายใต้การให้ข้อมูลและเงื่อนไขการพัฒนาร่วมกัน  3) กลยุทธ์การดำเนินงานการพัฒนาวินัยนักเรียน 3.1) การพัฒนาวินัยนักเรียน มีหลักการพื้นฐานที่เป็นเงื่อนไขเบื้องต้น ดังนี้ 3.1.1) นักเรียนทุกคนมีคุณค่า แม้จะมีความแตกต่างระหว่างบุคคล แต่สามารถสอนและเรียนรู้วินัยได้ 3.1.2) การพัฒนาวินัยนักเรียน ต้องเป็นการดำเนินการแบบปฏิบัติการทั่วทุกภาคส่วนทั้งโรงเรียน และการพัฒนานักเรียนร่วมกันระหว่างครูกับผู้ปกครอง ซึ่งจะต้องมีการวางแผนงาน ออกแบบและกำหนดลำดับขั้นตอนของกิจกรรมอย่างเป็นระบบ 3.1.3) หลักการการมีวิสัยทัศน์ร่วม โดยผู้เกี่ยวข้องจะต้องมีภาพที่ปรารถนาในการพัฒนาคุณลักษณะของนักเรียนที่ชัดเจนร่วมกัน มีพื้นฐานการพัฒนาแนวคิดมาจากสภาพแวดล้อม บริบทและวัฒนธรรมของชุมชน เพื่อที่จะทำให้ภาพที่พึงประสงค์มีความเป็นไปได้และสอดคล้องกับวิถีของชุมชน 3.1.4) หลักการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ควรอยู่ในรูปแบบของคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาวินัยนักเรียนระดับโรงเรียน 3.1.5) กลยุทธ์การจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาวินัยนักเรียน ควรจัดให้มีกิจกรรมการเรียนรู้ที่อิงกรอบแนวคิดทฤษฎีการเรียนรู้แบบการวางเงื่อนไข ของ Edward L. Thorndike ประกอบด้วย กฎการฝึกหัด กฎแห่งความพร้อม กฎแห่งผล และการใช้หลักการเสริมแรง 3.1.6) การพัฒนาวินัยโดยอาศัยหลักการความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชุมชน วัด โรงเรียน (Cluster community base) โดยมุ่งหวังให้ชุมชนช่วยดูแลในทุกระดับการศึกษา 3.1.7) การพัฒนาวินัยนักเรียนตั้งอยู่บนพื้นฐานการเรียนรู้ร่วมกันเป็นชุมชนของนักปฏิบัติ ที่ต้องปรับตัว เรียนรู้ ปรับเปลี่ยนวิธีการ ยืดหยุ่น และสื่อสารร่วมกันตลอดเวลา 3.2) กลยุทธ์การพัฒนาวินัยนักเรียน โดยผ่านกระบวนการเรียนการสอนในชั้นเรียนบูรณาการไปกับกิจกรรมการเรียนรู้ทุกชั่วโมง ทุกกลุ่มสาระ โดยครูทุกคน 3.3) การพัฒนาวินัยโดยการใช้กิจกรรมเสริมหลักสูตร (Extra curriculum) อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า แต่งตัวไปโรงเรียน จนเลิกเรียนเดินทางกลับบ้าน อยู่ในความดูแลของครอบครัวและชุมชน 3.4) การออกแบบการเรียนรู้ที่ดี ควรคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้เรียน การจัดกิจกรรมเพิ่มความซ้ำซ้อนของการเรียนรู้แบบค่อยเป็นค่อยไป การให้ข้อมูลย้อนกลับของผลการกระทำ เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสปรับปรุงพัฒนาตนเอง การสร้างประสบการณ์แห่งความสำเร็จและการจัดกิจกรรมให้มีการกระตุ้นการคิด 3.5) สร้างระบบการพัฒนาความรู้และการจัดการความรู้ด้านวินัยนักเรียนอย่างเป็นระบบ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์องค์ความรู้จากการดำเนินงานและปรับปรุงระบบการพัฒนาวินัยนักเรียนอย่างต่อเนื่อง 3.6) การใช้กระบวนการคิดเชิงระบบ เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ อธิบายสถานการณ์ปัญหาของวินัยนักเรียนในโรงเรียน 4) การดำเนินการพัฒนาวินัยนักเรียน มีลำดับขั้นตอนการดำเนินการดังนี้ 4.1) การกำหนดเป้าหมายการพัฒนาวินัยนักเรียนอย่างรอบคอบ รอบด้าน คำนึงถึงบริบท ต่างๆ อย่างครบถ้วน และ 4.2) กำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จและเครื่องมือวัดความสำเร็จของการพัฒนาวินัย เพื่อสะท้อนความก้าวหน้าของการพัฒนาวินัยให้มีความน่าเชื่อถือ (Content validity)
ปัจจัยความสำเร็จ
1. ปัจจัยด้านผู้บริหาร เป็นความสามารถของผู้บริหารที่ควรมีในการเสริมสร้างวินัยให้กับนักเรียน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จ 2. ปัจจัยด้านครู เป็นคุณลักษณะ ความรู้และความสามารถของครูที่ควรมีในการเสริมสร้างวินัยให้กับนักเรียน มีบทบาทในการขับเคลื่อนกิจกรรมส่งเสริมวินัยนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถบูรณาการและประสานการเรียนรู้เพื่อพัฒนาวินัยของผู้เรียนกับการเรียนการสอนอย่างเหมาะสม 3. ปัจจัยด้านนักเรียน เป็นคุณลักษณะหรือพฤติกรรมของผู้เรียน ที่เมื่อมีลักษณะหรือพฤติกรรมดังกล่าวแล้ว จะทำให้การเสริมสร้างวินัยบรรลุเป้าหมาย 4. ปัจจัยด้านเครือข่ายความร่วมมือ เป็นความร่วมมือกันของสถาบันต่าง ๆ ภายนอกโรงเรียน ที่สามารถช่วยเหลือ ดูแล แนะนำนักเรียนให้มีวินัย เมื่ออยู่ภายนอกโรงเรียน ช่วยเหลือโรงเรียนในด้านการสอดส่องดูแลขณะที่นักเรียนอยู่นอกโรงเรียน และปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี 5. ปัจจัยด้านบริบท เป็นการสร้างบรรยากาศหรือสภาพแวดล้อมทั้งภายในโรงเรียนและนอกโรงเรียน ที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตอย่างมีวินัยของนักเรียน
เงื่อนไขความสำเร็จ
1. ความสมัครใจและเต็มใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทุกคนต้องให้ความตระหนัก มั่นใจในคุณค่าและความสำคัญของการมีวินัย โดยอาศัยความคิดริเริ่มของคณะครูและการมีภาวะผู้นำของผู้บริหารเป็นหลัก 2. การกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการเสริมสร้างวินัยในสถานศึกษา ในแผนหรือหลักสูตรสถานศึกษาอย่างชัดเจน มอบหมายผู้รับผิดชอบหลักอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา 3. การติดตามและประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ 4. การดำเนินงานหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างวินัยให้เป็นไปตามบริบทของสถานศึกษา ต้องไม่เป็นการเพิ่มงบประมาณจากปกติและไม่ใช่การเพิ่มภาระงานให้กับผู้สอน ซึ่งการดำเนินกิจกรรมการเสริมสร้างวินัย ควรเป็นกิจกรรมที่ใกล้ตัวและเป็นส่วนหนึ่งในแบบแผนการปฏิบัติของโรงเรียนตามความเหมาะสม 5. การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งบุคลากรในสถานศึกษา ผู้ปกครอง และชุมชน โดยรอบ 6. การสร้างความยั่งยืนของการเสริมสร้างวินัย โดยนำแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ปรับเข้ากับกระบวนการภายใน จะเป็นการบูรณาการการดำเนินงานและกลายเป็นความร่วมมือของครูและผู้เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ
ข้อเสนอแนะ
1. การเสริมสร้างวินัยในสถานศึกษา ควรกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการเสริมสร้างและพัฒนาวินัยในแต่ละด้านในแผนหรือหลักสูตรสถานศึกษาอย่างชัดเจน สอดคล้องกับปัญหา ความจำเป็น และบริบทของสถานศึกษาอย่างเหมาะสม และสามารถปฏิบัติการพัฒนาได้จริง โดยมอบหมายผู้มีส่วนรับผิดชอบอย่างชัดเจนและเป็นระบบ 2. กำหนดแบบแผนในการกำกับติดตามการเสริมสร้างและพัฒนาวินัยอย่างต่อเนื่อง 3. เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเสริมสร้างและพัฒนาวินัยอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับหลักสูตรของสถานศึกษาและความต้องการของสังคมและชุมชน 4. การดำเนินการเสริมสร้างและพัฒนาวินัยผู้เรียน ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้เรียนทั้งในและนอกโรงเรียน และเป็นกิจกรรมการพัฒนาที่เป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนการสอน ไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของครู 5. สถานศึกษาควรดำเนินการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาที่บูรณาการการพัฒนาและเสริมสร้างวินัยของผู้เรียนในลักษณะของการทำงานวิจัย
กลุ่มเป้าหมายที่นำไปใช้
     หน่วยงานส่วนภูมิภาค และสถานศึกษา
ระดับการศึกษา
     ประถมศึกษา+มัธยมศึกษาตอนต้น+มัธยมศึกษาตอนปลาย
ระบบการศึกษา
     การศึกษาในระบบ
รองรับประเด็น
     ระบบการจัดการเรียนรู้
ประโยชน์ที่มีต่อผู้เรียน
     MQ (Moral Quotient) ความคิดด้านศีลธรรม

สรุปผลการวิเคราะห์เชื่อมโยงงานวิจัยกับแผนสำคัญของประเทศ
ยุทธศาสตร์ชาติ 3 ประเด็น 4.2
แผนแม่บท 11 แผนย่อย 3.3 แนวทางการพัฒนา 1)
แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เรื่อง 5 ประเด็น 5.2  
แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 12 ย.1
แผนการศึกษาแห่งชาติ ย.3 แนวทางการพัฒนา 3.3

เอกสาร
       ดาวน์โหลดเอกสาร


เชื่อมโยงงานวิจัยกับแผนสำคัญของประเทศ
      ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
            2. การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต
      แผนย่อยของแผนแม่บท 11 การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต
            3.3 แผนย่อยการพัฒนาช่วงวัยเรียนและวัยรุ่น
      แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เรื่องและประเด็นการปฏิรูปที่ 5
            5.2 การจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรม
      แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)
            ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์
      แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579
            ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
      นโยบายหลักรัฐบาล (12 ด้าน)
            8. การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย
      นโยบายเร่งด่วนรัฐบาล (12 เรื่อง)
            7. การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21