ฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านการศึกษาที่เชื่อมโยงแผนสำคัญของประเทศ
การศึกษาสภาพและปัจจัยในการเสริมสร้างวินัยในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในบริบทของประเทศไทย (2561,มหาวิทยาลัยนครพนม)

วัตถุประสงค์
1) เพื่อศึกษาวิเคราะห์และสังเคราะห์นโยบายรัฐบาล กฎ ระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง ที่เป็นปัจจัยช่วยหนุนเสริมหรือเป็นอุปสรรค ต่อการเสริมสร้างวินัยในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2) เพื่อศึกษามาตรฐานการศึกษา หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นปัจจัยช่วยหนุนเสริมหรือเป็นอุปสรรค ต่อการเสริมสร้างวินัยในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 3) เพื่อศึกษาหลักการ แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างวินัยในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 9 ด้าน คือ ความรับผิดชอบ การตรงต่อเวลา ความซื่อสัตย์สุจริต การปฏิบัติตามระเบียบ กฎเกณฑ์ รู้จักกาลเทศะ เคารพสิทธิผู้อื่น การมีจิตอาสา เสียสละ และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น 4) เพื่อศึกษาแนวทางและกระบวนการเสริมสร้างวินัยในสถานศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 5) เพื่อศึกษาสภาพความร่วมมือของทุกภาคส่วนของสังคมในการเสริมสร้างวินัยในสถานศึกษา 6) เพื่อศึกษาสภาพระบบกลไกและความร่วมมือในการส่งเสริมสนับสนุนการเสริมสร้างวินัย ในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 7) เพื่อศึกษาปัจจัยที่สร้างความเข้มแข็งให้บุคคลมีวินัย 8) เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย


รูปแบบ/โมเดล
ระบบกลไกและความร่วมมือในการส่งเสริมสนับสนุนการเสริมสร้างวินัยในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  1) รูปแบบที่ 1 วินัยแบบเด็กปกครองกันเอง มีกฎ กติกา ให้นักเรียนปกครองกันเอง มีการกำกับดูแลทั้งชีวิตความเป็นอยู่ นอกจากจะเป็นการฝึกระเบียบวินัยด้วยกันเองแล้ว เด็กจะได้ทักษะชีวิตจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยกันเอง การปกครองกันเอง ออกกฎระเบียบกันเอง เช่น โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ที่เน้นความรักและเสรีภาพ เป็นการหล่อหลอม นำเด็กที่มีปัญหาครอบครัวมาฝึก มาปรับพฤติกรรม ให้เสรีภาพ และความรัก มีสภานักเรียน มีการออกกติกากันเอง และเคารพกติกาของสังคม การลงโทษ คือการตัดสิทธิ์ต่าง ๆ วินัยแบบเด็กปกครองกันเอง  2) รูปแบบที่ 2 วินัยทั้งกายและใจ หรือวินัยแบบเน้นหลักธรรมในการกำกับตน เป็นการฝึกทั้งกายภาพภายนอก และจิตภายใน คือการฝึกตลอดเวลา หล่อหลอมทั้งกาย ใจ จิตวิญญาณ เช่น ใช้ปรัชญาแนวคิดวิถีพุทธ เน้นเรื่องการฝึกจิต เน้นกระบวนการจิตตปัญญาศึกษาเข้ามาฝึก 3) รูปแบบที่ 3 วินัยตามกฎ ระเบียบ เป็นการฝึกแบบให้นักเรียนเคารพกฎ กติกา ระบบฝึกนักเรียน เช่น ห้ามใส่รองเท้าขึ้นอาคาร ให้รางวัลสำหรับเด็กที่ทำดี และลงโทษสำหรับเด็กที่ทำผิดกติกา ใช้กระบวนการเรียนการสอนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการฝึกด้วย ซึ่งโรงเรียนส่วนใหญ่ในประเทศไทย จะใช้การฝึกวินัยแบบนี้ ผลของการฝึกจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความจริงจังของการดำเนินงานเป็นหลัก 4) รูปแบบที่ 4 วินัยแบบทหาร คือนำวินัยทหารมาฝึกอบรมผู้เรียนให้เป็นผู้มีวินัย เป็นการฝึกแบบเข้มข้น ตามกฎ ระเบียบ การทำผิดกฎผิดระเบียบ เน้นการลงโทษ การปฏิบัติวินัยต่าง ๆ เน้นการฝึกแบบซ้ำ ๆ เพื่อให้ปฏิบัติจนเกิดเป็นความเคยชิน ส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนที่เริ่มต้นโดยการรับนโยบายจากกองทัพ  5) รูปแบบที่ 5 วินัยจากการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน โดยให้บทบาทผู้ปกครอง ชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิด ประสานงาน พูดคุยกับครูที่ปรึกษา เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาพฤติกรรมนักเรียน และเน้นการพัฒนานักเรียนโดยการใช้โครงงานคุณธรรม 
ปัจจัยความสำเร็จ
ปัจจัยที่สร้างความเข้มแข็งให้บุคคลมีวินัย 1) ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ (1) ความรับผิดชอบ (2) ความอดทน (3) ความเชื่อมั่นในตนเอง (4) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (5) แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ (6) ความเชื่ออำนาจในตน (7) การมุ่งอนาคตควบคุมตน (8) เจตคติต่อวินัยในตนเอง (9) ความฉลาดทางอารมณ์ 10) ความสามารถในการปรับตัว 2) ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมทางบ้าน ได้แก่ (1) การอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย (2) การอบรมเลี้ยงดูแบบเข้มงวด (3) การอบรมเลี้ยงดูแบบใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ และมีความสม่ำเสมอและเหมาะสมในการให้รางวัลหรือลงโทษ (4) การอบรมเลี้ยงดูแบบการลงโทษทางจิตมากกว่าทางกาย (5) การอบรมเลี้ยงดูแบบพึ่งตนเองเร็ว (6) ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว (7) ฐานะทางเศรษฐกิจ 8) สภาพแวดล้อมทางบ้าน (9) การปฏิบัติตนของผู้ปกครอง 3) ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมของโรงเรียน ได้แก่ (1) การปฏิบัติตนของครู (2) พฤติกรรมกลุ่มเพื่อน (3) การจัดการเรียนการสอนจริยศึกษาในคาบเรียน (4) การจัดกิจกรรมจริยศึกษา/เสริมสร้างวินัย (5) การจัดสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมจริยศึกษา (6) บรรยากาศในชั้นเรียน (7) สัมพันธภาพระหว่างครูกับนักเรียน (8) สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน (9) ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน 4) ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมทางสังคม 
เงื่อนไขความสำเร็จ
เงื่อนไขสำคัญของประเทศไทย 1) บ้าน โรงเรียน และชุมชนต้องร่วมมือกัน โดยความร่วมมือจากผู้ปกครองและชุมชน ถ้าเปรียบเทียบกับต่างประเทศจะค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะถ้าเปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่น เพราะประเทศญี่ปุ่นนั้น การเสริมสร้างวินัยเป็นเรื่องของวัฒนธรรมที่ปลูกฝังตั้งแต่ครอบครัว 2) การปลูกฝังวินัยในวัยเยาว์ คือ ระดับประถมศึกษา เพราะเด็กในวัยนี้เริ่มเข้าใจเหตุและผลง่าย ๆ ได้บ้างแล้ว ถ้าครูระดับประถมศึกษามีการกำกับดูแล เล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การแต่งกาย การแขวนสิ่งของ การวางรองเท้า การทำความสะอาดห้องเรียน ฯลฯ จะมีอิทธิพลอย่างมาก 3) ควรเน้น “วินัยเชิงบวก” มากกว่า “วินัยเชิงลบ” วินัยเชิงบวกจะทำให้เด็กกระทำพฤติกรรมด้วยความสมัครใจ เข้าใจในเหตุและผลของการปฏิบัติ ซึ่งจะปลูกฝังในตัวเด็กอย่างยั่งยืน ไม่ใช่กระทำเพราะกลัวการลงโทษเท่านั้น
ข้อเสนอแนะ
1) ระดับหน่วยงานกำหนดนโยบาย 1.1) การเสริมสร้างวินัยนักเรียน เป็นกระบวนการที่จำเป็นต้องอาศัยความชัดเจนและความต่อเนื่องเชิงนโยบายเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการเสริมสร้างวินัยนักเรียน เงื่อนไขสำคัญคือการเริ่มปลูกฝังมาจากการอบรมเลี้ยงดูระดับครอบครัว และการฝึกฝน เอาใจใส่อย่างจริงจังและต่อเนื่องโดยครูในระดับประถมศึกษา ดังนั้น หน่วยงานที่กำหนดนโยบายการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงจำเป็นต้องมีความชัดเจนในการกำหนดเป็นนโยบายสำคัญในการเสริมสร้างคุณลักษณะผู้เรียนและต้องมีความเข้มข้น จริงจัง ต่อเนื่อง มีระบบการกำกับ ติดตามและประเมินผลเพื่อการปรับปรุงนโยบายต่อเนื่องตลอดเวลา 1.2) ครูประจำชั้นระดับประถมศึกษา เป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อการเสริมสร้างวินัยนักเรียนมากที่สุด เพราะนักเรียนวัยประถมศึกษาตอนต้น จะเป็นวัยที่เริ่มก่อตัวของบุคลิกภาพ และหากได้มีความร่วมมือที่เข้มแข็งกับครอบครัวด้วยจะยิ่งทำให้การสร้างวินัยนักเรียนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 1.3) ภาวะการนำของผู้บริหารสถานศึกษาที่มีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการสร้างวินัยนักเรียน จะเป็นตัวส่งสัญญาณที่กระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติอย่างจริงจังและเข้มข้นระดับชั้นเรียนได้มากที่สุด 1.4) การให้การศึกษาแก่ครอบครัว เป็นเรื่องที่จำเป็นมาก เพราะยังมีความแปรปรวนของระดับการเลี้ยงดูของแต่ละครอบครัวที่แตกต่างกันมาก โดยเฉพาะระดับการศึกษา และเศรษฐฐานะของพ่อ แม่ จะเป็นตัวสะท้อนคุณภาพและระบบการเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน 1.5) ต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษา ต้องมีส่วน กระตุ้นและส่งสัญญาณความต้องการการเสริมสร้างวินัย ไปยังครูและผู้บริหารโรงเรียนอย่างจริงจัง เข้มข้นและต่อเนื่องตลอดเวลา 2) หน่วยงานกำกับนโยบายระดับภาค 2.1) ต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์การเสริมสร้างวินัยนักเรียน โดยให้แต่ละจังหวัดดำเนินการสร้างกลยุทธ์การเสริมสร้างวินัยนักเรียน และมีตัวชี้วัดเป็นตัวบ่งชี้ระดับความสำเร็จของการดำเนินการในแต่ละจังหวัด 2.2) ต้องมีระบบการกำกับ ติดตาม ประเมินผลเพื่อการพัฒนากระบวนการอย่างต่อเนื่อง 2.3) ต้องมีระบบการจัดการความรู้ด้านการเสริมสร้างวินัยนักเรียนในระดับสถานศึกษาระดับจังหวัดและระดับภาค เพื่อการเรียนรู้และต่อยอดให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 3) หน่วยงานระดับจังหวัด 3.1) คณะกรรมการการศึกษาจังหวัด ควรจะต้องมีการกำหนดเป้าหมายด้านวินัยนักเรียนที่เป็นคุณลักษณะร่วมของทั้งจังหวัด เพื่อให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นของแต่ละจังหวัด และเป็นสิ่งที่สนองตอบต่อการพัฒนาคุณภาพคนเพื่อตอบสนองการมีงานทำในแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกันด้วย 3.2) ควรจะเปิดโอกาสให้แต่ละโรงเรียน มีอิสระในการออกแบบกิจกรรมการเสริมสร้างวินัยนักเรียน โดยเน้นการใช้กระบวนการชุมชนเรียนรู้วิชาชีพร่วมกัน เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาไปสู่การมีนวัตกรรมการเสริมสร้างวินัยนักเรียนที่เป็นการปฏิบัติดีของแต่ละโรงเรียน 3.3) ต้องมีระบบการกำกับ ติดตาม ประเมินผลกระบวนการพัฒนาวินัยนักเรียนแต่มีลักษณะเป็นการประเมินเพื่อการพัฒนา มากกว่าเป็นการประเมินเพื่อการตัดสินผล 4) หน่วยงานระดับสถานศึกษา 4.1) ครูประจำชั้นเป็นปัจจัยสำคัญอย่างที่สุด เพราะการดูแลนักเรียนอย่างเข้าใจใกล้ชิด ทุ่มเท เสียสละ ต่อเนื่องโดยตั้งอยู่บนฐานของความปรารถนาดีเป็นที่ตั้ง แบบ “กัดไม่ปล่อย” จะเป็นปัจจัยเงื่อนไขของความสำเร็จเบื้องต้น 4.2) สังคมเพื่อนในชั้นเรียนเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่จะมีส่วนสร้างความวินัยในนักเรียนได้ เพราะบุคคล ที่มีความเข้าใจ ใกล้ชิดกันมากที่สุด คือ เพื่อน ดังนั้น การมีเพื่อนที่มีความคิดที่ถูกต้อง มีการนำพาไปในทางที่ดี จะเป็นส่วนสำคัญมาก 4.3) การสร้างเงื่อนไขหรือสร้างแรงจูงใจ สร้างกลยุทธ์ให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือกับผู้ปกครอง หรือ สมาชิกในชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่ จะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่จะสร้างเกราะคุ้มกันและสร้างวินัยนักเรียนได้ดีที่สุด 4.4) การสร้างความตระหนักและสร้างเป้าหมายการมีวินัยนักเรียน ด้วยการให้ครูจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ต้องบูรณาการเรื่องการเสริมสร้างวินัยไปด้วยอย่างพิถีพิถัน จริงจัง ในรายละเอียดอย่างต่อเนื่อง เข้มแข็ง โดยเฉพาะครูในระดับปฐมวัย จนถึงระดับประถมศึกษา เป็นระยะการก่อตัวของการสร้างบุคลิกภาพของนักเรียนในอนาคต 4.5) การสร้างชุมชนการเรียนรู้วิชาชีพ ด้วยการใช้การสร้างวินัยนักเรียนเป็นเป้าหมายที่ต้องกำหนดให้ครูทุกคนในโรงเรียนจะต้องดำเนินการ โดยต้องถือเป็นนโยบายสำคัญของทุกโรงเรียน 4.6) ผู้บริหารโรงเรียน จะต้องจัดระบบการถอดบทเรียนระหว่างครูในโรงเรียนและระหว่างโรงเรียน เพื่อค้นหาวิธีการปฏิบัติดีของแต่ละโรงเรียน และภายใต้เงื่อนไขที่แตกต่างกัน 4.7) ผู้บริหารโรงเรียน จะต้องมีการพัฒนานวัตกรรมการสร้างวินัยนักเรียนให้เป็นนโยบายสำคัญ เพราะการมีวินัย ถือเป็นคุณลักษณะที่สำคัญของนักเรียน
กลุ่มเป้าหมายที่นำไปใช้
     หน่วยงานส่วนภูมิภาค และสถานศึกษา
ระดับการศึกษา
     ประถมศึกษา+มัธยมศึกษาตอนต้น+มัธยมศึกษาตอนปลาย
ระบบการศึกษา
     การศึกษาในระบบ
รองรับประเด็น
     ระบบการจัดการเรียนรู้
ประโยชน์ที่มีต่อผู้เรียน
     MQ (Moral Quotient) ความคิดด้านศีลธรรม

สรุปผลการวิเคราะห์เชื่อมโยงงานวิจัยกับแผนสำคัญของประเทศ
ยุทธศาสตร์ชาติ 3 ประเด็น 4.2
แผนแม่บท 11 แผนย่อย 3.3 แนวทางการพัฒนา 1)
แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เรื่อง 5 ประเด็น 5.2  
แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 12 ย.1
แผนการศึกษาแห่งชาติ ย.3 แนวทางการพัฒนา 3.3

เอกสาร
       ดาวน์โหลดเอกสาร


เชื่อมโยงงานวิจัยกับแผนสำคัญของประเทศ
      ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
            2. การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต
      แผนย่อยของแผนแม่บท 11 การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต
            3.3 แผนย่อยการพัฒนาช่วงวัยเรียนและวัยรุ่น
      แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เรื่องและประเด็นการปฏิรูปที่ 5
            5.2 การจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรม
      แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)
            ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์
      แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579
            ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
      นโยบายหลักรัฐบาล (12 ด้าน)
            8. การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย
      นโยบายเร่งด่วนรัฐบาล (12 เรื่อง)
            7. การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21