ฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านการศึกษาที่เชื่อมโยงแผนสำคัญของประเทศ
รายงานการศึกษารูปแบบการจัดการศึกษาปฐมวัยของไทยและต่างประเทศ กรณีศึกษาประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ (2563,มหาวิทยาลัยมหิดล)

วัตถุประสงค์
1. เพื่อศึกษาเปรียบเทียบสภาพและผลการจัดการศึกษาปฐมวัยของไทย และของต่างประเทศ รวม 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์  2. เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาปฐมวัยที่พึงประสงค์ของประเทศไทยในยุค 4.0  3. จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการส่งเสริมสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฎิรูปการจัดการศึกษาปฐมวัยของไทย
รูปแบบ/โมเดล
รูปแบบการจัดการศึกษาปฐมวัยของไทยในยุค 4.0 1. หลักการ การจัดการศึกษาปฐมวัยยังคงเน้นในเรื่องของการให้เด็กได้พัฒนาการอย่างเต็มศักยภาพและควรเป็นการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม ซึ่งเด็กที่มีความต้องการพิเศษเรียนรวมกับเด็กทั่วไปโดยผ่านการเล่นอย่างอิสระและการเล่นอย่างมีจุดมุ่งหมาย ภายใต้บรรยากาศของความสนุกสนาน เพื่อให้เด็กได้รับประสบการณ์ที่ดีซึ่งจะส่งผลต่อการเรียนรู้เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยต่อไป 2. เป้าหมาย  การพัฒนาเด็กปฐมวัยมีเป้าหมาย ดังนี้  (1) เด็กมีสุขภาพดี ตระหนักถึงความปลอดภัย (2) มีความรักธรรมชาติ (3) การมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น 3. ลักษณะของสถานศึกษาและการจัดบริการ การจัดสถานศึกษาปฐมวัยควรเป็นไปตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ควรให้ความสำคัญกับการมีพื้นที่ภายนอกห้องเรียนให้เด็กได้เล่นอุปกรณ์ที่หลากหลาย เลือกเล่นได้อย่างอิสระ มีพื้นที่เพียงพอ จัดสภาพแวดล้อมให้มีความเป็นธรรมชาติ เช่น ปลูกต้นไม้ พืชสวนครัว และพื้นที่ภายในห้องเรียนที่ให้เด็กได้ทำกิจกรรมอย่างอิสระ มีของเล่น หนังสือภาพ รวมทั้งจัดสภาพแวดล้อมให้เด็กได้เรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ เช่น มีตู้เลี้ยงสัตว์ มีความปลอดภัย มีทางหนีไฟ ไม่มีสิ่งที่เป็นอันตรายอยู่ใกล้เด็ก นอกจากนี้ ภายในห้องเรียนควรมีความสว่างเพียงพอ ไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป อากาศถ่ายเท ศูนย์ดูแลเด็กควรมีห้องสำหรับชงนม/ล้างขวดนมที่สะอาด มีเครื่องซักผ้า ที่นอนและอุปกรณ์ต่าง ๆ ควรจัดเก็บอย่างเป็นระเบียบและสะอาด การบริการรถรับส่งสำหรับพ่อแม่ที่ไม่สะดวกในการเดินทางไปส่งเด็ก สถานศึกษาควรจัดรถที่เหมาะสม ที่นั่งไม่กว้างและช่องระหว่างที่นั่งไม่ควรกว้างจนเกินไปแบบรถตู้ทั่วไป และควรมีเข็มขัดนิรภัยสำหรับเด็ก อาหารว่างหรืออาหารกลางวัน ควรจ้างร้านค้าที่สามารถทำอาหารตามเมนูที่สถานศึกษากำหนดและจัดส่งตามเวลาได้ 4. หลักสูตรหรือสาระการเรียนรู้ ควรมีสาระสำคัญ ดังนี้ (1) การรู้จักตนเอง รู้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว สังคมและประชากรโลก (2) การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ความสำคัญของธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตรอบตัว (3) การมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น การรู้จักใจเขาใจเรา การร่วมมือกันทำกิจกรรม (4) การปฏิบัติตนให้มีสุขภาพที่ดีและปลอดภัยทั้งตัวเราและต่อผู้อื่น รวมทั้งรักษากฎกติกา (5) การสื่อสาร การถาม การบอกเล่าเรื่อง การฟังผู้อื่น 5. กระบวนการเรียนรู้ เด็กปฐมวัยเป็นช่วงที่ควรได้รับการส่งเสริมพัฒนาการในทุกด้าน ดังนั้น การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ควรคำนึงถึงพัฒนาการที่เด็กจะได้รับ โดยการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ควรใช้การเรียนรู้ผ่านการเล่นอย่างอิสระและการเล่นอย่างมีวัตถุประสงค์ (Play-Based Learning Approach) การทำโครงงาน (Project-Based Learning) การจัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียนและนอกห้องเรียนเพื่อให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา และการจัดประสบการณ์ตรงให้เรียนรู้อย่างสนุกสนาน 6. การประเมินผล การจัดประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยแม้จะไม่เน้นการสอนเขียน อ่าน คิดเลข แต่เด็กจะได้เรียนรู้ผ่านการเห็นตัวอักษร รู้จักคำต่าง ๆ ที่พบเห็นทุกวัน เด็กสามารถเข้าใจและอ่านคำนั้นได้ ดังนั้น การประเมินผลจึงไม่ใช่การสอบข้อเขียนแต่เป็นการสังเกตพัฒนาการของเด็ก โดยการจดบันทึกพฤติกรรม ผลงานของเด็ก การบันทึกวิดีโอ การสอบถามพ่อแม่ 7. ผู้ดูแล/ครู ควรมีคุณสมบัติ ดังนี้ (1) ครูควรจบการศึกษาระดับปริญญาตรีและได้รับใบประกอบวิชาชีพ (2) ผู้ดูแลเด็กควรสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและได้รับการอบรม มีใบประกอบวิชาชีพ (3) มีการอบรมครู/ผู้ดูแลเด็กทุก 5 ปี (4) เงินเดือนควรได้รับสอดคล้องกับภาระความรับผิดชอบ (5) ควรมีการตรวจประวัติครู/ผู้ดูแลเด็ก 8. พ่อแม่หรือผู้ปกครอง พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรมีความเข้าใจและช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็ก โดยให้ข้อมูลครูเกี่ยวกับเด็กเมื่ออยู่ที่บ้าน การจัดให้มีสมาคมผู้ปกครอง ครู (Parent Teacher Association: PTA) เพื่อจัดกิจกรรมต่าง ๆ และแลกเปลี่ยนข้อมูลการพัฒนาเด็กจะช่วยลดความกังวลของพ่อแม่และผู้ปกครองในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระดับประถมศึกษา
ปัจจัยความสำเร็จ
1) ความเป็นหุ้นส่วนของพ่อแม่ (Partnership with Parents) โดยให้พ่อแม่และบุคคลในครอบครัวมีความรอบรู้ในการเลี้ยงดูลูก ดังนี้ (1) มีความรู้และทัศนคติที่ดีในการดูแลส่งเสริมพัฒนาของลูก (2) มีทักษะปฏิบัติและสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับเด็กเพื่อดูแลเด็กอย่างมีคุณภาพ (3) ไม่ใช้ความรุนแรงหรือวาจาที่ทำร้ายจิตใจลูก (4) จัดหาหนังสือหรือของเล่นที่เหมาะกับพัฒนาการเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้รับการพัฒนา (5) ไม่กดดันลูก 2) คุณภาพครู/ผู้ดูแล นอกจากมีคุณสมบัติที่เป็นไปตามมาตรฐานตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว ครูที่สามารถจัดประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับเด็กที่จะเติบโตในยุคไทย 4.0 ควรมีคุณลักษณะสำคัญคือ การเข้าใจและรู้จักตนเอง การมีความรู้เรื่องเทคโนโลยี การมีความคิดสร้างสรรค์ การมีทักษะภาษาอังกฤษและการมีทักษะทางด้านสุนทรียศาสตร์ 3) บทบาทของผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาปฐมวัยที่มีความรู้ด้านการจัดการศึกษาปฐมวัย หากมีองค์ความรู้ด้านเด็กปฐมวัยด้วยแล้วจะทำให้มีความสามารถทางการบริหารงานด้านเด็กปฐมวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ 4) ความร่วมมือของชุมชนและบุคคลในสังคม โดยมีสาระสำคัญคือ (1) มีส่วนร่วมในการสนับสนุนทรัพยากร พัฒนาหลักสูตรและการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนและการลงทุนเพื่อการศึกษา (2) สนับสนุนการดำเนินงานของสถานศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ มีส่วนร่วมจัดการศึกษาและจัดกิจกรรมการเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ ตามศักยภาพและความพร้อม (3) รับรู้ข่าวสารและผลการดำเนินงานของสถานศึกษา ติดตามและดูแล ป้องกัน ช่วยเหลือและแก้ปัญหาเรื่องต่าง ๆ 5) ระบบการผลิตครูและคุณภาพครู ระบบการผลิตครูในปัจจุบันยังขาดกลไกในการติดตามและประเมินคุณภาพ เช่น การเปิดรับครูปฐมวัยจำนวนมาก ทำให้อัตราส่วนระหว่างอาจารย์กับจำนวนนักศึกษาไม่สอดคล้องกันส่งผลต่อประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสูตรการผลิตครูปฐมวัยควรเน้นทักษะด้านสุนทรียศาสตร์ (ดนตรี ศิลปะและการละคร) เนื่องจากทักษะด้านนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับครูในการออกแบบการจัดประสบการณ์เรียนรู้ให้กับเด็ก และบัณฑิตครูด้านปฐมวัยบางส่วนไม่ได้ประกอบอาชีพครู ทำให้ระบบการผลิตบัณฑิตครูปฐมวัยสวนทางกันทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ 6) การเตรียมการเชื่อมต่อ (Transition) แบ่งการเชื่อมต่อออกเป็น 2 ช่วง คือ (1) การเชื่อมต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นการเชื่อมต่อการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูกับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย การปรับตัวของเด็กในรอยเชื่อมต่อการพัฒนาจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนการช่วยเหลือจากพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู ผู้สอนและบุคลากรอื่นที่เกี่ยวข้อง (2) การสร้างรอยเชื่อมต่อระหว่างการศึกษาระดับปฐมวัยกับระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยในการปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี สามารถพัฒนาการเรียนรู้ได้อย่างราบรื่น โดยบุคลากรทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามามีส่วนร่วม ประกอบไปด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้สอนระดับปฐมวัย ผู้สอนระดับประถมศึกษาและพ่อแม่/ผู้ปกครอง 7)งบประมาณ
ข้อเสนอแนะ
1. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาควรจัดเวทีเพื่อร่วมกันหาแนวทางในการดำเนินงานของแต่ละกระทรวงที่รับผิดชอบในการจัดการศึกษาปฐมวัย และความเป็นไปได้ในการลดกระทรวงที่รับผิดชอบหรือกำหนดภาระงานที่ชัดเจนของแต่ละกระทรวง 2. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาควรวางแนวทางร่วมกับกระทรวงที่รับผิดชอบ ในการจัดการศึกษาปฐมวัยรวมทั้งสำนักงานรับรองมาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษาในการตรวจสอบและให้คำแนะนำสถานศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานการจัดการศึกษาปฐมวัย 3. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาควรร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุข วางแผนแนวทางการผลิตและพัฒนาผู้ดูแลเด็กเล็กและครูปฐมวัยให้มีความรู้ ทักษะในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับเด็กในยุค 4.0 และมีคุณภาพตามเกณฑ์อย่างยั่งยืนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว  4. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาและกระทรวงที่เกี่ยวข้องควรผลักดันให้สถานศึกษาปฐมวัยจัดการศึกษาแบบเรียนรวม โดยให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษได้เรียนรวมกับเด็กทั่วไป 5. รัฐบาลควรทบทวนการจัดสรรงบประมาณแก่สถานศึกษาปฐมวัย ควรให้สถานศึกษาได้รับงบประมาณเพียงพอในการจัดซื้อสื่อ อุปกรณ์ หนังสือ รวมทั้งค่าอาหารกลางวัน ตามภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน 6. รัฐบาลควรส่งเสริมและสนับสนุนการทำวิจัยเพื่อนำมาใช้ในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย โดยมีทั้งที่กำหนดหัวข้อและแบบอิสระ เป็นงานวิจัยที่ไม่ได้ต้องการคำตอบหลาย ๆ อย่าง แบบกว้าง ๆ ซึ่งไม่สามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้ แต่ควรเป็นงานวิจัยที่ตอบคำถามประเด็นเดียวอย่างชัดเจน
กลุ่มเป้าหมายที่นำไปใช้
     กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น พม. สธ. อปท. ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาระดับปฐมวัย
ระดับการศึกษา
     ปฐมวัย
ระบบการศึกษา
     ทุกระบบการศึกษา
รองรับประเด็น
     ระบบการจัดการเรียนรู้
ประโยชน์ที่มีต่อผู้เรียน
     ทุกด้าน

สรุปผลการวิเคราะห์เชื่อมโยงงานวิจัยกับแผนสำคัญของประเทศ
ยุทธศาสตร์ชาติ 3 ประเด็น 4.2
แผนแม่บท 11 แผนย่อย 3.2 แนวทางการพัฒนา 3)
แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เรื่อง 2 ประเด็น 2.1 
แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 12 ย.1
แผนการศึกษาแห่งชาติ ย.3 แนวทางการพัฒนา 3.1

เอกสาร
       ดาวน์โหลดเอกสาร


เชื่อมโยงงานวิจัยกับแผนสำคัญของประเทศ
      ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
            2. การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต
      แผนย่อยของแผนแม่บท 11 การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต
            3.2 แผนย่อยการพัฒนาเด็กตั้งแต่ช่วงการตั้งครรภ์จนถึงปฐมวัย
      แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เรื่องและประเด็นการปฏิรูปที่ 2
            2.1 การพัฒนาระบบการดูแล พัฒนา และจัดการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย
      แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)
            ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์
      แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579
            ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
      นโยบายหลักรัฐบาล (12 ด้าน)
            8. การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย