ฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านการศึกษาที่เชื่อมโยงแผนสำคัญของประเทศ
รายงานการวิจัยเเละพัฒนา เรื่อง รูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน (2557,มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์)

วัตถุประสงค์
๑. เพื่อศึกษาสภาพการบริหารจัดการของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาที่มีขนาดและความพร้อมแตกต่างกัน ๒. เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เหมาะสมตามขนาดและความพร้อม ๓. เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการส่งเสริม สนับสนุนการบริหารจัดการของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามขนาดและความพร้อม
รูปแบบ/โมเดล
รูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน แบ่งเป็น ๓ กลุ่ม มีจำนวน ๑๐ รูปแบบ ดังนี้  ๑) กลุ่มจากการบริหารจัดการที่มีอยู่เดิม แบ่งเป็น ๒ กลุ่มย่อย คือ ๑.๑) กลุ่มรูปแบบมีส่วนร่วมและเครือข่าย มี ๔ รูปแบบ ได้แก่ (1)รูปแบบการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมของชุมชน เป็นรูปแบบที่มีการบริหารจัดการในลักษณะเป็นเจ้าของงานร่วมกันของกรรมการสถานศึกษา ผู้บริหาร ครู และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) เช่น ตัวแทนพ่อแม่ ผู้ปกครอง ชมรมศิษย์เก่า สมาคมผู้ปกครอง และองค์กรในชุมชน (2)รูปแบบการบริหารจัดการแบบเครือข่ายความร่วมมือ เป็นรูปแบบที่มีการบริหารจัดการแบบเชื่อมโยงพึ่งพาอาศัยกันและกัน ในลักษณะของพันธมิตร มีความสัมพันธ์แนวราบกับเครือข่ายสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้วยกันที่มีสภาพปัญหาและความต้องการ วัฒนธรรม ความเชื่อ ค่านิยม คล้ายคลึงกัน ที่อาจมีสถานศึกษาใกล้เคียงกัน หรือห่างไกล แล้วแต่ความเหมาะสม รวมกลุ่มกันบริหารจัดการกันทางวิชาการ งบประมาณ และบุคลากรร่วมกัน และมีโรงเรียนแกนนำทางวิชาการภายในกลุ่ม เป็นหน่วยประสานการดำเนินงาน (3)รูปแบบการบริหารจัดการแบบพี่เลี้ยง เป็นการบริหารจัดการที่ต้นสังกัดโดยเขตพื้นที่การศึกษาอำนวยความสะดวก สนับสนุนส่งเสริมสถานศึกษาขนาดกลาง หรือขนาดเล็กที่ขาดแคลนบุคลากร งบประมาณ และเทคโนโลยี และไม่สามารถช่วยตนเองได้ในบางเรื่อง เช่น การพัฒนาหลักสูตร การเบิกจ่ายงบประมาณ การเงินและบัญชี ฯลฯ ที่ต้นสังกัดควรเป็นผู้ดำเนินการแทนโรงเรียน (4)รูปแบบการบริหารจัดการแบบแม่ข่ายและลูกข่าย เป็นการบริหารจัดการที่ต้นสังกัดโดยเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้บริหารจัดการแทนโรงเรียนขนาดเล็ก ทั้งในด้านสนับสนุนวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคลและการบริหารทั่วไป ให้โรงเรียนทำหน้าที่เฉพาะการจัดการเรียนการสอน ๑.๒) กลุ่มรูปแบบการบริหารจัดการแบบอิสระและในกำกับของรัฐ มี ๒ รูปแบบ ได้แก่ (1)รูปแบบการบริหารจัดการแบบอิสระ เป็นการบริหารจัดการที่ต้นสังกัดให้อิสระและความคล่องตัวในการจัดการเรียนการสอนแก่โรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ และขนาดใหญ่ ที่มีความพร้อมทั้งด้านวิชาการ บุคลากร และงบประมาณ ที่สามารถบริหารจัดการได้เอง และการได้รับการสนับสนุนจากชุมชนและเครือข่าย (2)รูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษาในกำกับของรัฐ เป็นการบริหารจัดการที่เปิดโอกาสให้ประชาชน นักการศึกษา กลุ่มบุคคล องค์กรเอกชน หรือองค์กรการกุศล เข้ามาจัดการศึกษาในสถานศึกษาของรัฐแทนรัฐ เพื่อตอบสนองความต้องการการศึกษาที่มีคุณภาพด้วยตนเอง มีระเบียบกฎหมายการบริหารจัดการของสถานศึกษาเป็นการเฉพาะ โดยมีสัญญาระหว่างฝ่ายจัดการศึกษากับรัฐ อย่างมีอิสระตามแนวทางของตนภายใต้การกำกับ และสนับสนุนงบประมาณจากรัฐ  ๒) กลุ่มการบริหารจัดการที่กำหนดขึ้นใหม่ มี ๓ รูปแบบ ได้แก่ (1)รูปแบบการบริหารจัดการแบบหุ้นส่วน เป็นการบริหารจัดการแบบความร่วมมือระหว่างรัฐกับภาคส่วนอื่น ที่มีความเห็นร่วมกันที่จะแก้ปัญหาการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ หรือสถานศึกษาที่ต้องการรับการสนับสนุนส่งเสริม การพัฒนา ห่างไกล ทุรกันดาร จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือ เป็นหุ้นส่วนจากหลายฝ่าย เช่น รัฐกับรัฐ รัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐกับองค์กรเอกชน รัฐกับองค์กรการกุศล รัฐกับสมาคม มูลนิธิ หรือสถาบันสังคมอื่น (2)รูปแบบการบริหารจัดการโดยการจ้างองค์กรภายนอก (Outsource) เป็นการจ้างเอกชนหรืบุคคลภายนอกภาคราชการเข้ามาบริหารจัดการแทนบางเรื่องหรือ ทั้งระบบ โดยที่ทรัพยากรพื้นฐานทั้งหมดยังเป็นของรัฐ (3)รูปแบบการบริหารจัดการแบบยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง เป็นการบริหารจัดการแบบยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง หรือใช้พื้นที่เป็นฐาน (area - based management) โดยไม่คำนึงถึงสังกัด แต่เป็นการรวมตัวกันบริหารจัดการกันทางวิชาการเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่เน้นผู้เรียนหรือพลเมืองของสถานศึกษาในพื้นที่เดียวกันหรือที่ใกล้เคียงกันเป็นสำคัญ เช่น พื้นที่ตำบล พื้นที่อำเภอ เป็นต้น และนำทรัพยากรทางการบริหารบางส่วนมาร่วมมือกัน  ๓) กลุ่มการบริหารจัดการแบบผสมผสาน มี ๑ รูปแบบ คือ รูปแบบการบริหารจัดการแบบผสมผสาน เป็นการผสมผสานววิธีการบริหารจัดการรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือหลายรูปแบบ ตามกลุ่มที่ ๑) และกลุ่มที่ ๒) ที่มีรูปแบบการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นฐานในการบริหารจัดการของทุกรูปแบบ และการไม่ยึดรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่ให้การผสมผสานกันตามบริบท ขนาดและความพร้อมของสถานศึกษา
ข้อเสนอแนะ
๑) ข้อเสนอแนะนโยบาย ๑.๑) นโยบายการส่งเสริมการนำรูปแบบไปใช้ (๑) กำหนดให้สถานศึกษาทุกแห่ง ทุกขนาด และประเภทของสถานศึกษา บริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นฐานโดยการบริหารจัดการสถานศึกษาในรูปแบบต่างๆ ที่สถานศึกษาเลือกนำไปใช้ (๒) วางแผนการนำรูปแบบที่นำเสนอไปใช้ ให้สถานศึกษาเลือกนำรูปแบบการบริหารจัดการศึกษาตามบริบท ขนาดและความพร้อมของตน (๓) จำกัดขนาดของสถานศึกษา ให้เหมาะสมต่อการบริหารจัดการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่สอดคล้องกับบริบทระหว่างในเมืองและชนบท โดยสถานศึกษาในชนบท มีจำนวนนักเรียนไม่เกิน ๕๐๐ คน และหากจำเป็นไม่ควรเกิน ๑,๐๐๐ คน สถานศึกษาในเมือง ควรอยู่ระหว่าง ๑,๕๐๐ - ๒,๕๙๙ คน และหากจำเป็น ไม่ควรเกิน ๓,๕๐๐ คน ๑.๒) นโยบายที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนการบริหารจัดการสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพ (๑) การกระจายอำนาจทางการบริหารทั้งด้านวิชาการ งบประมาณและการบริหารงานบุคคลให้สมบูรณ์ เพื่อให้สถานศึกษาสามารถบริหารจัดการได้อย่างคล่องตัว (๒) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ทั้งด้านการร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมดำเนินการและร่วมติดตามประเมินผล (๓) รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรแยกระบบการบริหารข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ออกจากระบบบริหารงานบุคคลของระบบราชการ เพื่อให้การบริหารงานบุคคลไม่อยู่ภายใต้การครอบงำทางการเมืองการปกครอง (๔) ควรมีการวางแผนอัตรากำลัง ทั้งในระดับเขตพื้นที่และสถานศึกษาบนพื้นฐานของบริบทและความต้องการสถานศึกษา รวมทั้งควรเปิดโอกาสให้สถานศึกษาได้มีส่วนร่วมในการกำหนดความต้อการและการสรรหาบุคลากรตามความต้องการจริงของสถานศึกษา (๕) ควรพัฒนาระบบการสรรหาบุคลากรทางการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของสถานศึกษา และพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบ ให้มีความรู้ความสามารถ และความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในการจัดการเรียนการสอน และมีจิตวิญญาณของความเป็นครู (๖) ควรปรับระบบงบประมาณ ให้สถานศึกษามีความคล่องตัวในการบริหารจัดการด้วยตนเอง (๗) จัดระบบโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี ทั้งด้านเครื่องมือ (Tools) และด้านสาระ (Content) ของเทคโนโลยี เพื่อให้การศึกษาสามารถเข้าถึงผู้เรียนได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมทั้งประเทศ (๘) ส่งเสริมสนับสนุนผู้บริหารสถานศึกษาให้มีธรรมภิบาล บริหารจัดการแบบโปร่งใส พร้อมให้ตรวจสอบได้ ยึดหลักคุณธรรม (๙) เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในความเคลื่อนไหวทางการศึกษาและวิทยาการใหม่แก่ครู และบุคลากรทางการศึกษา กรรมการสถานศึกษาและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ๑.๓) นโยบายที่เป็นสาระของการบริหารจัดการสถานศึกษา (๑) หากจะกำหนดนโยบายการบริหารจัดการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จะต้องกำหนดบนพื้นฐานของการวิจัย พัฒนา และประเมินผลนโยบายที่มีการปฏิบัติในช่วง ๒ - ๓ ปี ที่ผ่านมา และไม่ควรเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน (๒) ลดการแทรกแซงและการสั่งการที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของส่วนกลาง ในภารกิจที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาดำเนินการได้เอง (๓) ปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางให้เป็นหลักสูตรที่มีความยืดหยุ่นได้สูงและเป็นเพียงกรอบกว้างๆ มีสาระที่กำหนดแนวทางให้ปฏิบัติน้อยที่สุด (๔) จัดชั้นเรียน ให้เหมาะสมกับจำนวนครู โดยเฉลี่ยไม่เกิน ๒๐ คน ต่อครู ๑ คน ห้องเรียนประถมศึกษา นักเรียนไม่เกิน ๓๐ คน/ห้อง ห้องเรียนมัธยมศึกษา ไม่เกิน ๔๐ คน/ห้อง (๕) จัดสรรงบประมาณ ให้โรงเรียนที่มีความแตกต่างกันทั้งด้านบริบท ขนาดของสถานศึกษา ปัญหาและความต้องการพิเศษ โดยมีเกณฑ์การพิจารณาที่คำนึงถึงความแตกต่างกัน และนโยบาย/ทิศทางการพัฒนาการศึกษาของชาติ (๖) ให้การสรรหาและคัดเลือก หรือโยกย้าย ครูและบุคลากรเป็นการสรรหา คัดเลือก และโยกย้ายตามความต้องการที่แท้จริงของสถานศึกษานั้นๆ (๗) ให้การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษา หรือองค์กรภายนอก ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และอ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา (๘) จัดให้มี คูปองการพัฒนาครู จัดสรรให้กับสถานศึกษาเพื่อให้สถานศึกษาเลือกที่จะส่งครูเข้ารับการพัฒนาได้ตรงตามความต้องการ (๙) กำหนดให้ผู้บริหารสถานศึกษาในแต่ละรูปแบบ ต้องเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ คุณวุฒิความรู้ความสามารถทางการบริหารจัดการเป็นที่ยอมรับในวงการศึกษาและชุมชนและต้องผ่านการเตรียมการเพื่อการเป็นผู้บริหารโดยตรง (๑๐) คัดเลือกคนเก่งเข้ามาเป็นครู โดยพิจารณาจากกลุ่มปัญญาเลิศ หรือที่ผ่านการคัดเลือกเป็นนักเรียนทุน ที่อาจคัดจากผู้ที่จบปริญญาสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องมาพัฒนาวิธีการสอนให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและมีจิตวิญญาณของความเป็นครู (๑๑) จัดให้มีฝ่ายสนับสนุนการสอนของครูให้ครอบคลุมสถานศึกษาทุกแห่ง โดยไม่ให้ครูทำหน้าที่อื่นนอกจากการเรียนการสอนและการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน  ๒) ข้อเสนอแนะการปฏิบัติ  (๑)เพิ่มศักยภาพและพัฒนาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งด้านบุคลากร วิชาการ งบประมาณและโครงสร้างพื้นฐานองค์การ เพื่ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนส่งเสริมสถานศึกษาในรูปแบบต่างๆ ที่กำหนดไว้ (๒) ให้มีการประเมินผลรูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษาทุกรูปแบบ ตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กำหนด หลังจากนำแต่ละรูปแบบไปใช้อย่างน้อย ๒ ปี เพื่อการปรับปรุงและพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมต่อไป (๓) ให้การจัดการเรียนการสอน เป็นการเรียนการสอนแบบยืดหยุ่นที่ครูสามารถจัดกิจกรรมและประสบการณ์ได้อย่างคล่องตัว ภายใต้กรอบหลักสูตรที่กำหนดไว้กว้างๆ (๔) ให้การประเมินผลผู้เรียน มุ่งเน้นพัฒนาการของผู้เรียนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ทั้งด้านความรู้ ทักษะ เจตคติ พฤติกรรม ด้วยวิธีการที่หลากหลาย
กลุ่มเป้าหมายที่นำไปใช้
     กระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานส่วนกลาง หน่วยงานส่วนภูมิภาค และสถานศึกษา
ระดับการศึกษา
     ประถมศึกษา+มัธยมศึกษาตอนต้น+มัธยมศึกษาตอนปลาย
ระบบการศึกษา
     การศึกษาในระบบ
รองรับประเด็น
     ระบบการบริหารจัดการ
ประโยชน์ที่มีต่อผู้เรียน
     ทุกด้าน

สรุปผลการวิเคราะห์เชื่อมโยงงานวิจัยกับแผนสำคัญของประเทศ
ยุทธศาสตร์ชาติ 3 ประเด็น 4.3
แผนแม่บท 12 แผนย่อย 3.1 แนวทางการพัฒนา 3)
แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เรื่อง 1 ประเด็น 1.2 
แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 12 ย.1
แผนการศึกษาแห่งชาติ ย.3 แนวทางการพัฒนา 3.1

เอกสาร
       ดาวน์โหลดเอกสาร


เชื่อมโยงงานวิจัยกับแผนสำคัญของประเทศ
      ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
            3. ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21
      แผนย่อยของแผนแม่บท 12 การพัฒนาการเรียนรู้
            แผนย่อยการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21
      แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เรื่องและประเด็นการปฏิรูปที่ 1
            1.2 การสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชน เพื่อการจัดการศึกษา
      แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)
            ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์
      แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579
            ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
      นโยบายหลักรัฐบาล (12 ด้าน)
            8. การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย